รู้จัก สุดยอดพระเครื่อง "เบญจภาคี" เหตุผลที่ต้องเป็น 5 องค์นี้ ใครกำหนด?

Home » รู้จัก สุดยอดพระเครื่อง "เบญจภาคี" เหตุผลที่ต้องเป็น 5 องค์นี้ ใครกำหนด?
รู้จัก สุดยอดพระเครื่อง "เบญจภาคี" เหตุผลที่ต้องเป็น 5 องค์นี้ ใครกำหนด?

รู้จักที่มาที่ไปของ สุดยอดพระเครื่อง “เบญจภาคี” เหตุผลที่ต้องเป็น 5 องค์นี้ ใครเป็นผู้กำหนด?

พระเบญจภาคี จัดว่าเป็นสุดยอดพระเครื่องของเมืองไทยที่เป็นที่นิยมมากของวงการพระเครื่อง เป็นสุดยอดพระของแต่ละยุคสมัย และเป็นสุดยอดของพุทธคุณ ผู้ใดได้ครอบครองเป็นเจ้าของก็เชื่อได้ว่าคนผู้นั้นเปี่ยมด้วยวาสนา บารมี ทำให้เป็นที่ปรารถนาสูงสุดของเหล่าเซียนพระนักสะสม 

พระชุดเบญจภาคี มีความหมายทั้งทางพุทธคุณ พุทธศิลป์ และยุคสมัย จึงเป็นความนิยมสืบต่อมาจนทุกวันนี้ ประกอบด้วย

  • พระสมเด็จฯวัดระฆัง (พระประธาน) ซึ่งพุทธคุณครอบจักรวาล เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์
  • พระนางพญา พุทธคุณเด่นทางเมตตามหานิยมอยู่ยงคงกระพันชาตรี เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยอยุธยา
  • พระกำแพงซุ้มกอ พุทธคุณเด่นทางด้านโชคลาภ โภคทรัพย์ เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยสุโขทัย
  • พระรอด พุทธคุณเด่นทางด้านแคล้วคลาดนิรันตราย เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยทราวดีตอนปลาย (หริภุญชัย)
  • พระผงสุพรรณ นั้นพุทธคุณเด่นทางด้านโภคทรัพย์ แคล้วคลาด อยู่ยง เป็นองค์แทนพระเครื่องที่สร้างในสมัยอู่ทอง

กำเนิดพระชุดเบญจภาคี

การจัดชุดของพระเบญจภาคี เริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2490 ซึ่งในขณะนั้นสถานที่พบปะของผู้นิยมสะสมพระเครื่องจะอยู่ที่บริเวณข้างศาลแพ่ง โดยมีร้านขายกาแฟของมหาผันซึ่งนักนิยมพระเครื่องทั้งหลายมักเรียกกันว่า “บาร์มหาผัน” เป็นจุดนัดพบปะของผู้นิยมสะสมพระเครื่อง พ.อ.(พิเศษ) ประจน กิตติประวัติ อดีตนายทหารประจำกองบัญชาการทหารสูงสุดหรือ “ตรียัมปวาย” นักเลงพระระดับพระกาฬ พร้อมด้วย น.ท.สันทัด แห่งกองทัพอากาศ หรือ ผู้กองสันทัด (ผู้จัดพระชุดมังกรดำ) และเพื่อนอีกสองสามคนมักจะมาพบปะกันอยู่เสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่งมีการคิดจะจัดชุดห้อยพระกัน ท่านอาจารย์ตรียัมปวาย ท่านคิดจะจัดชุดพระที่มีความสำคัญ ซึ่งเป็นพระยอดนิยม จึงสนทนาปรึกษากันว่าจะห้อยพระอะไรบ้างจึงจะเหมาะสมสวยงาม

เริ่มจากพระชุดไตรภาคี

เริ่มจากการเลือก พระสมเด็จฯวัดระฆัง เป็นองค์ประธาน เนื่องจากมีผู้เคารพศรัทธาในเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นอย่างมาก อีกทั้งพุทธคุณนั้นก็ครอบจักรวาล ด้วยพระคาถาที่ปลุกเสก คือ ชินบัญชรคาถา นอกจากนั้น พระสมเด็จฯ มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีขนาดพอสมควรจึงเหมาะที่จะนำมาไว้เป็นพระองค์กลาง

จากนั้น ก็หาว่าจะนำพระอะไรมาห้อยเป็นองค์ต่อไปซ้าย-ขวา จุดประสงค์หลัก คือ ต้องเป็นพระเก่าที่มีความนิยม จึงปรึกษากันจนได้ข้อสรุปว่าน่าจะเป็น พระนางพญาพิษณุโลกพิมพ์เข่าโค้ง ซึ่งสร้างโดยพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมเหสีของพระมหาธรรมราชา และ พระราชชนนีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงนำพระนางพญามาสถิตย์อยู่เบื้องขวาของสร้อย

องค์ต่อมาก็มีความเห็นในครั้งแรกว่า ควรจะเป็น พระรอดพิมพ์ใหญ่ กรุวัดมหาวัน ลำพูน ซึ่งเป็นพระเก่าแก่มาแต่โบราณ ตามตำนานว่าเป็นพระที่สร้างในสมัยพระนางจามเทวี เจ้าผู้ครองเมืององค์แรกของนครหริภุญชัย พุทธคุณนั้นก็เปี่ยมล้นไปด้วยนิรันตรายแคล้วคลาดปลอดภัย สถิตย์อยู่เบื้องซ้ายของสร้อย ในครั้งแรกนั้นก็จัดชุดได้ 3 องค์ จึงเรียกกันว่า พระชุดไตรภาคี โดยมีพระสมเด็จวัดระฆังฯพิมพ์พระประธาน(พิมพ์ใหญ่) อยู่ตรงกลางเป็นองค์ประธาน พระนางพญา กรุวัดนางพญา พิมพ์เข่าโค้งอยู่เบื้องขวา เป็นองค์ต่อมา และพระรอด พิมพ์ใหญ่ กรุวัดมหาวันอยู่เบื้องซ้าย ตามลำดับ

กลายมาเป็นพระชุดเบญจภาคี

หลังจากนั้นต่อมาซักระยะหนึ่ง จึงเห็นว่าขนาดพระของพระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง กับพระรอดที่ห้อยคู่กันนั้น ขนาดไม่เท่ากัน องค์หนึ่งใหญ่กว่าอีกองค์หนึ่ง ไม่ค่อยสมดุลเท่าไรนัก จึงคิดจะจัดชุดให้เป็น 5 องค์จะได้เป็นพระชุดใหญ่เต็มสร้อยพอดี จึงมานั่งคิดกันต่อว่า จะหาพระอะไรดีจึงจะเหมาะสมกับพระทั้ง 3 องค์ที่จัดไว้แล้ว ก็มานึกถึงพระกรุทุ่งเศรษฐี พระเม็ดขนุน ซึ่งเป็นพระที่อุดมด้วยโภคทรัพย์และเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชลิไท มาจัดห้อยคู่กับพระนางพญาแทน

แต่ต่อมาผู้กองสันทัดท่านก็ให้ความเห็นว่า พระเม็ดขนุนเป็นพระปางลีลา พระที่จัดชุดไว้แล้วเป็นพระปางประทับนั่งทั้งสิ้นมองดูคงจะไม่เข้ากันนัก อีกด้วยรูปทรงของพระเม็ดขนุนซึ่งเป็นรูปทรงรีๆ ยาวๆ น่าจะหาพระปางประทับนั่งเช่นเดียวกัน จึงเปลี่ยนอีกทีโดยนำ พระกำแพงซุ้มกอ ซึ่งเป็นพระของกรุทุ่งเศรษฐีเช่นกัน ยุคสมัยเดียวกันมาจัดห้อยคู่กับพระนางพญา ก็ได้สมดุลทั้งขนาด รูปทรง และความเหมาะสม

สำหรับองค์สุดท้ายที่ต้องหามาให้เหมาะสมและสมดุลมีขนาดใกล้เคียงกับพระรอดซึ่งมีขนาดย่อม และอยู่ถัดขึ้นไปด้านบนของสร้อยจากพระทั้งสามองค์ ก็นึกกันขึ้นมาได้และเป็นข้อยุติคือ ใช้ พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ ซึ่งพบที่กรุวัดพระศรีมหาธาตุ สุพรรณบุรี ซึ่งจารึกลานทองระบุว่าพระมหาปิยะทัตสะสี ศรีสารีบุตรเป็นประธานในการสร้างบรรจุไว้ ซึ่งเพียบพร้อมทั้งด้านพุทธคุณตามที่ในลานทองระบุไว้ และเป็นที่นิยมกันมาก ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ท่านสนทนากันในสมัยนั้น ก็เห็นว่าเหมาะสมและสมดุลกันอย่างเหมาะเจาะลงตัว จึงได้มาเป็นพระชุดเบญจภาคีขึ้นในครั้งแรก และผู้นิยมสะสมพระเครื่องต่างก็ยอมรับและชื่นชมในความสามารถที่จัดชุดพระยอดนิยมได้อย่างลงตัวที่สุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ