เว็บไซต์กูเกิล เอิร์ธ เอนจิน เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมเหนือพื้นที่รอบโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปี 2563 พบว่าแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวตั้งแต่ปี 2533 ก่อนกลายเป็นแหล่งที่ตั้งบ้านจัดสรรในช่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อปี 2532 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มก่อสร้างโรงงาน พบว่าริมถนนกิ่งแก้ว หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 มีเพียงบ้านเรือนประชาชนตั้งอยู่ไม่กี่หลังริม 2 ฝั่งถนนเท่านั้น ส่วนโรงงานแห่งนี้ตั้งเข้ามาในซอยกิ่งแก้ว 21
แม้พื้นที่ดังกล่าวเริ่มมีคนมาอยู่มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก จนกระทั่งสนามบินสุวรรณภูมิสร้างเสร็จเมื่อปี 2549 พื้นที่โดยรอบเริ่มเปลี่ยนจากที่นากลายเป็นพื้นที่ที่มีดินมาถมเพื่อรอก่อสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรร
ต่อมาเมื่อประมาณปี 2555-2558 พบว่าพื้นที่ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หมู่บ้านจัดสรรมาตั้งมากขึ้น และพื้นที่ดังกล่าวจากที่เคยเป็นเพียงทุ่งนาและชุมชนของคนดั้งเดิม ก็กลายเป็นชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากในที่สุด
โรงงานมาก่อนผังเมือง-บังคับใช้กฎหมายไม่ได้
แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ เผยเมื่อวันอังคาร (6 ก.ค.) ว่า ผังเมืองรวมสมุทรปราการที่เก่าที่สุด คือฉบับเมื่อปี 2537 กำหนดให้พื้นที่รอบโรงงานนี้ ที่ตั้งอยู่ที่ ทางเหนือของ ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ฝั่งตะวันตกของสนามบินสุวรรณภูมิ ป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ซึ่งไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทุกประเภท ยกเว้นโรงแรมและธุรกิจในครัวเรือน
แหล่งข่าวรายนี้กล่าวต่อไปว่า กฎหมายดังกล่าวนำมาบังคับใช้กับโรงงานนี้ไม่ได้ เพราะโรงงานนี้เข้ามาประกอบกิจการตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งก็คือก่อนออกผังเมือง และกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง
ต่อมาเมื่อปี 2544 ผังเมืองรวมสมุทรปราการปรับพื้นที่ให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม (สีแดง) แบบพิเศษ แหล่งข่าวรายนี้อธิบายว่า การปรับพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีแดงพิเศษมีเจตนาให้รองรับต่อธุรกิจที่จะเติบโตจากสนามบินสุวรรณภูมิที่มีแนวโน้มจะสร้างเสร็จอีกไม่กี่ปีต่อจากนั้น อย่างเช่น ภาคโลจิสติกส์ โรงแรม แต่ก็ยังไม่อนุญาตให้โรงงานที่มีสารพิษอันตรายเช่นนั้นมาตั้งอยู่ แต่ก็นำกฎหมายมาบังคับใช้ไม่ได้เพราะเป็นโรงงานที่มาตั้งอยู่ตั้งแต่ก่อนมีผังเมือง
ราชกิจจานุเบกษา
ไฟไหม้เซตซีโร่ ถึงคราวเปลี่ยนแปลง
แหล่งข่าวรายนี้ เผยว่า การปรับเป็นพื้นที่สีแดงนั้น อนุญาตให้หมู่บ้านจัดสรรมาตั้งในพื้นที่ดังกล่าวได้ เพียงแต่ว่าอาจต้องดูในข้อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายโรงงาน ที่กำหนดไม่ให้โรงงานตั้งใกล้กับวัด โรงเรียน หรือชุมชน เกิน 100 เมตร
แหล่งข่าวรายนี้ บอกอีกว่า เหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันจันทร์ (5 ก.ค.) ต่อเนื่องมาจนถึงเช้าวันอังคาร (6 ก.ค.) เป็นจุดที่กฎหมายผังเมืองจะนำมาบังคับใช้ เพราะทำให้โรงงานแห่งนี้สร้างขึ้นมาใหม่จากศูนย์ไม่ได้อีกแล้ว ทางเลือกหนึ่งคือถ้าหากไม่ปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นไปตามผังเมือง ก็อาจต้องหาทำเลที่ตั้งใหม่ให้สอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบัน