เชฟซูชิดัง ชำแหละ “ปลาหมอคางดำ” วิเคราะห์อวัยวะต่าง ๆ ดูแล้วรู้เลยทำไมคนถึงไม่นิยมกิน แค่ไส้ก็ยาวเป็น 9 เท่าของขนาดลำตัว
เฟซบุ๊ก Kensaku ซึ่งเป็นร้านซูชิ ข้าวหน้าปลาไหลชื่อดัง มีการโพสต์รีวิวการชำแหละดูอวัยวะภายในของปลาหมอคางดำ ทำให้ค้นพบปริศนาหลาย ๆ อย่างที่ทำให้รู้ว่า ทำไมปลาหมอคางดำถึงไม่เป็นที่นิยม รวมถึงทำไมถึงขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
1. ไส้ของปลาหมอคางดำ เมื่อนำออกมาวัดความยาวดูแล้วพบว่า ยาวเป็น 9 เท่าของขนาดลำตัว
2. เนื้อล้วนแบบไม่มีก้าง มีปริมาณเพียงแค่ 28% ของน้ำหนักตัว ถ้าน้ำหนักตัว 277 กรัม เท่ากับว่ามีเนื้อล้วนแค่ 79 กรัมเท่านั้น เท่ากับว่า ส่วนที่ต้องทิ้งคือ 72% ของน้ำหนักตัว หรือสรุปกันง่าย ๆ ว่า เป็นปลาเนื้อน้อย
3. ในท้องปลาหมอคางดำตอนนี้เจอแต่เลนตะไคร่ คาดว่า คงหาอะไรอย่างอื่นกินยากแล้ว จึงมีแต่ของแบบนี้อยู่ในท้อง
4. อัตราการจับแบบสุ่มแหที่บ่อหอยบางขุนเทียน พบว่า เจอปลาหมอคางดำถึง 90% อีก 10% เป็นสัตว์อื่น ๆ เช่น ปลาแมว ปูทะเล
5. ปลาหมอคางดำที่จับได้ส่วนใหญ่พร้อมสืบพันธุ์ 80% และไม่มีไขมันในท้อง นี่อาจจะเป็นเหตุผลรองรับว่า ทำไมถึงขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย หลายคนมองว่าจากคุณสมบัติปลาชนิดนี้ ไม่เหมาะแก่การนำมาเป็นอาหารคน เหมาะแก่การเป็นอาหารสัตว์
ขณะเดียวกัน ก็มีคนถามด้วยว่า ถ้าปลาหมอคางดำมีเนื้อ 28% แล้วปลาอื่น ๆ ที่กินได้มีเนื้อเท่าไหร่ ซึ่งทางร้านตอบว่า ขึ้นอยู่กับชนิดของปลา ก่อนมีคนมาช่วยเสริมว่า ถ้าเป็นปลานิลจะมีเนื้อที่กินได้ราว 40% เว้นแต่ว่าเป็นปลานิลที่มีการปรับปรุงพันธุ์ อาจมีส่วนที่กินได้สูงถึง 50%