อ.เจษฎ์ ขอเห็นต่าง แนวคิดใช้ยาแรง “ไซยาไนด์” ฆ่าปลาหมอคางดำ ห่วงผลกระทบรุนแรงที่จะตามมา
กรณีการรายงานข่าว รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แสดงความกังวลว่ามาตรการที่นำมาใช้กำจัดปลาหมอคางดำอยู่ในขณะอาจไม่ทันการณ์ เนื่องจากขยายพันธุ์แพร่ระบาดขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเสนอหากสถานการณ์เกินเยียวยาก็อาจใช้ไซยาไนด์เป็น “มาตรการสุดท้าย” โดยต้องควบคุมเฉพาะไม่ให้ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า “ไซยาไนด์ ฆ่าปลาหมอคางดำได้จริง … แต่ผลกระทบน่าจะรุนแรงครับ”
เมื่อกี้นักข่าวโทรมาขอความเห็น เกี่ยวกับที่ อาจารย์อภินันท์ จากคณะประมง ม.แม่โจ้ เสนอให้ใช้สารพิษ “ไซยาไนด์” ฆ่าปลาหมอคางดำ ก็อธิบายไปว่า อาจารย์ท่านคงหมายถึงให้ใช้เป็นตัวเลือกสุดท้าย เมื่อมันหมดหนทางเยียวยาจริงๆ แต่ก็มีผลกระทบตามมาสูงมากครับ
โดย รศ.ดร.อภินันท์ ระบุด้วยว่า โครงสร้างทางเคมีของไซยาไนด์เป็นประจุลบ (หมายถึงไปจับกับสสารอื่นในน้ำ ตกตะกอน สลายตัวไปได้) พบได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว และจะไม่มีการตกค้าง ไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำ เป็นอีกหนึ่งแนวทาง ที่จะลดความเสียหายให้กับภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจ ระบบนิเวศและทรัพยากรแหล่งน้ำ ได้อย่างเห็นผล
ซึ่ง ดร.เจษฎา ก็ให้ความเห็นว่า ในทางทฤษฎีนั้น เป็นเรื่องจริงที่การใส่สารไซยาไนด์ลงไปในแหล่งน้ำ จะสามารถฆ่าปลาหมอคางดำได้ … ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสารไซยาไนด์ แต่ยังรวมถึงสารเคมีอื่นๆ ที่เคยมีการใช้ “เบื่อปลา” กันในอดีต หรือพวกสมุนไพร เช่น “โล่ติ๊น” (หรือ ต้นหางไหล) ก็สามารถใช้กับปลาหมอคางดำได้
แต่ในทางปฏิบัตินั้น ก็ต้องมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน ที่จะต้องได้รับสารพิษนี้ ตายตามปลาหมอคางดำนั้นไปด้วย และจะทำให้ระบบนิเวศของแหล่งน้ำดังกล่าวที่ใช้ เกิดความเสียหายอย่างหนักได้ ถ้าจะพอใช้ได้ ก็คงต้องเป็นพื้นที่ปิด เป็นบ่อน้ำบ่อปลาส่วนบุคคล ไม่ควรเป็นพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำสาธารณะ
สอดคล้องกับที่ รศ.ดร.อภินันท์ ก็บอกไว้เช่นกันว่า ต้องมีการศึกษาเรื่อง “ปริมาณที่เหมาะสม” กับพื้นที่แหล่งน้ำ ที่จะดำเนินการ และระยะเวลาปลอดภัย ที่จะกลับเข้าไปฟื้นฟูด้วย แต่ในส่วนนี้ ดร.เจษฎา เห็นต่างตรงที่บอกว่า “ไม่น่าห่วง เพราะสามารถฟื้นฟูเติมปลาไทยลงไปใหม่ได้ ไม่ยาก” โดยมองว่ามันยากนะ ที่เมื่อเราทำลายระบบนิเวศที่ไหนแล้ว จะให้มันกลับมาสมบูรณ์ มีความหลากหลายเหมือนเดิมได้
- ห้ามเด็ดขาด! อ.เจษฎ์ เตือนเคสไซยาไนด์ ปฐมพยาบาล “อย่าผายปอด” เสี่ยงตายฉับพลัน
- ช็อกอีก ไข่ปลาหมอคางดำ ตากแดดทิ้งไว้ 2 เดือน ยังฟักเป็นตัวได้ อึดสมฉายาเอเลียน
ดังนั้น ดร.เจษฎา จึงบอกนักข่าวไปว่า จริงๆ จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการรณรงค์จับและทำลายปลาหมอคางดำกันขนาดใหญ่ ในช่วงเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ (หลังจากที่ไม่เคยทำกันมาเลยหลายปี) เริ่มเห็นได้ชัดเจนว่า ได้ผลจริง! จำนวนประชากรปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่ออนุญาตให้ใช้เครื่องมือจับปลาเฉพาะ เช่น พวกเรืออวนรุน ก็จับได้เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว
ที่ติดขัดกันอยู่ตอนนี้ และน่าจะทำเพิ่มก็คือ การอนุญาตให้จับปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตอภัยทานของวัด (ซึ่งยังติดข้อกฏหมาย และความเชื่อทางศาสนา) กับการอนุญาตให้ใช้ เครื่องช็อตไฟฟ้า (ซึ่งติดข้อกฏหมายเช่นกัน แต่จะมีประโยชน์มาก ในพื้นที่ที่เรือไม่สามารถเข้าไปได้ง่าย) ถ้าเพิ่มอีก 2 อย่างนี้ได้ ก็น่าจะกำจัดปลาหมอคางดำได้ผลขึ้นอีกเยอะ
สุดท้าย ดร.เจษฎา ยังได้เพิ่มข้อมูลจากงานวิจัยในต่างประเทศ ถึงการทดลองใช้สารพิษไซยาไนด์ กับ “ปลานิล” (เนื่องจากมีการลักลอบใช้กันอยู่) เพื่อดูว่ามีตกค้างในปลามากน้อยแค่ไหน เผื่อมีการนำไปบริโภคกัน โดยทำการศึกษาผลของสารโซเดียมไซยาไนด์ ความเข้มข้น 0.129 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของปลานิล เมื่อเลี้ยงไป 28 วัน โดยดูการทำงานจากเอนไซม์ adenosine triphosphatase (ATPase ) ในอวัยวะของปลา คือ ที่เส้นเหงือก ตับ และกล้ามเนื้อ รวมถึงระดับความเสถียรของสารไซยาไนด์ ที่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของปลาซึ่งเก็บแช่เย็นไว้
พบว่า ปลามีพฤติกรรมที่ผิดปรกติไป โดยภายใน 14 วันแรกของการเลี้ยงนั้น ปลาสูญเสียสมดุลร่างกาย มีการหลั่งเมือกออกมามากเกิน ที่บริเวณเส้นเหงือกและผิวหนัง ยิ่งไปกว่านั้น สารโซเดียมไซยาไนด์ ได้ลดปฏิกิริยาของสารเอนไซม์ ATPase ของเนื้อเยื่อที่ทำการศึกษา ตามช่วงเวลาที่ผ่านไป และค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของไซยาไนด์ ที่อยู่ในเนื้อเยื่อปลาแช่แข็ง ก็ลดลงเรื่อยๆ โดยไซยาไนด์ในกล้ามเนื้อและตับของปลานั้น หายไปหมดในเวลา 48 ชั่วโมง และในเลือดและเหงือกปลาแช่แข็งนั้น จะหายไปหมดใน 72 ชั่วโมง