จากกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในหลายจังหวัดของประเทศไทย สื่อสังคมได้ตั้งคำถามถึงที่มาของเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดนี้ ว่าใครเป็นผู้นำเข้ามาและทำไมถึงมีการระบาดรุนแรงได้ขนาดนี้ จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเกษตรกรผู้ทำประมง
ซึ่งหลายแหล่งได้อ้างถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งก็คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่ได้มีประวัติการนำเข้าปลาหมอคางดำ ตามเอกสารบันทึกจากกรมประมง จนทำให้สังคมสงสัยว่า ปลาหมอคางดำที่ระบาดกว้างขวางอยู่ในปัจจุบัน อาจมาจากบริษัทแห่งนี้หรือไม่
- ผู้ว่าฯชัชชาติ ลงพื้นที่ เก็บซาก ‘ปลาหมอคางดำ’ หลังลอยตายเต็มบึง
- ธรรมนัส จ่อขึ้นราคา ‘ปลาหมอคางดำ’ จากโลละ 8 บาท เป็น โลละ 15 บาท
ล่าสุด วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้ส่งหนังสือชี้แจงกรณีปัญหาปลาหมอคางดำ ต่อคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.) โดยเอกสารชี้แจงมีดังนี้
นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า ในส่วนงานสัตว์น้ำ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยได้มีการทบทวนย้อนหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2553 ถึงวันทำลายในเดือนมกราคม 2554 มั่นใจได้ว่าบริษัทได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและด้วยความรอบคอบตามหนังสือชี้แจงที่ได้นำส่งไปยัง คณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.)
นายเปรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานรัฐตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ด้าน อันประกอบด้วย
- ทำงานร่วมกับกรมประมงในการสนับสนุนให้มีการรับซื้อปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นปลาป่น
- ทำงานร่วมกับภาครัฐในการสนับสนุนการปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ
- สนับสนุนภาครัฐในการจัดกิจกรรมจับปลา
- สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำร่วมกับสถาบันการศึกษา
- สนับสนุนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ