
แชร์กันเพียบภาพโลมาสีชมพูเล่นน้ำ ที่แท้เป็น “โลมา AI” ผู้เชี่ยวชาญชี้จุดสังเกต ดูยังไงว่าไม่ใช่ของจริง
โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพ โลมาสีชมพู ที่เป็นสีชมพูสดใสสวยงาม กำลังกระโดดเล่นน้ำทะเล โดยภาพชุดดังกล่าวถูกแชร์กันเป็นจำนวนมาก โดยภาพเหล่านี้ถูกอ้างว่าพบที่บริเวณชายฝั่งนอร์ทแคโรไลนา ขณะที่ชาวเน็ตไทยบางส่วนบอกว่า เป็นโลมาขนอม ทั้งนี้ ไม่มีการยืนยันว่าใครเป็นคนถ่ายภาพนี้
ในเวลาต่อมา เพจ ThaiWhales โพสต์ระบุว่า “โลมาสีชมพู Barbie pink ที่แชร์กันน่าจะ ai นะคะ โลมาสีชมพูหรือโลมาหลังโหนกมีจริง … แต่ในรูปนั้นเป็นโลมาปากขวดค่ะ”
ขณะที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลของไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “ถึงเพื่อนธรณ์ผู้แชร์ภาพโลมาสีชมพูจากอเมริกา ผมเข้าใจว่านั่นคือโลมา AI ฮะ”
อย่างไรก็ตาม มีการพบโลมาสีชมพูตามธรรมชาติจริง ที่ทะเลขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยเป็นโลมาหลังโหนก อยู่ในสถานะอนุรักษ์ ประเภทมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ (NT) จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
โดยเมื่อโลมามีอายุมากจะมีสีสว่างขึ้นจนถึงเป็นสีชมพู แต่ไม่ใช่ชมพูสดใสแบบในภาพที่แชร์กัน โดยสีชมพูนี้ไม่ได้มาจากเซลล์เม็ดสี แต่มาจากสีของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป การพบเห็นโลมาสีชมพู ยังบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย