บางกอกคณิกา ย้อนไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคสมัยที่การค้าประเวณีรุ่งเรืองที่สุด การขายบริการเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย เสียภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปพัฒนาบ้านเมืองมากมาย ทั้งขุดคลอง สร้างถนน เฉกเช่นประชาชนคนทั่วไป
เหตุการณ์ในเรื่องเกิดปี พ.ศ. 2435 ซีรีส์เล่าเรื่องของโสเภณีในหอบุปผชาติ ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการเลิกทาส ตัวละครหลักของเรื่องจึงต้องต่อสู้เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากการเป็นโสเภณี เพราะต้องอยู่ในสถานะต่ำกว่ามนุษย์ นอกจากเป็นทาสแล้วยังต้องขายบริการแม้ไม่ได้เต็มใจ
ตามประวัติศาสตร์ไทยนั้น ในพระไอยการทาสกำหนดให้ทาสมี 7 ประเภท ดังนี้
1. ทาสในเรือนเบี้ย คือ ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสอยู่ภายในบ้านของนายทาส นับว่ามีสถานะเป็นทาสตั้งแต่กำเนิด และทาสชนิดนี้จะไม่สามารถไถ่ถอนตัวเองได้
2. ทาสสินไถ่ คือ ทาสที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมด ทาสชนิดนี้มักจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวหรือตนเองได้ จึงได้ขายตัวหรือคนในครอบครัวไปเป็นทาส ซึ่งมีตั้งแต่ พ่อแม่ขายลูก สามีขายภรรยา หรือบุคคลนั้น ๆ ประสงค์จะขายตัวเอง แต่ถ้าหากมีผู้นำเงินมาไถ่ถอน ทาสประเภทนี้ก็จะสามารถเป็นไท พ้นจากความเป็นทาสได้
3. ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก คือ ทาสที่ตกเป็นมรดกต่อเนื่องมา ทาสประเภทนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทาสคนเดิมเสียชีวิตลง และได้มอบทาสมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป
4. ทาสท่านให้ คือ ทาสที่ได้รับมาจากผู้อื่น
5. ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ ทาสประเภทนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ บุคคลใดก็ตามเกิดกระทำความผิดแล้วถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แล้วบุคคลผู้นั้นไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าปรับได้ แต่มีผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือชำระจัดการให้ บุคคลผู้นั้นจะเป็นทาสของผู้ให้ความช่วยเหลือในการชำระค่าปรับ
6. ทาสเชลย คือ ทาสที่ได้หลังจากชนะศึกสงคราม ผู้ชนะจะกวาดต้อนประชากรของจากเมืองหรือดินแดนของผู้แพ้สงครามไปยังบ้านเมืองของตน แล้วนำประชากรเหล่านี้ไปเป็นทาสรับใช้
7. ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ทาสประเภทนี้แต่เดิมคือไพร่ ไพร่ผู้ซึ่งไม่สามารถทำงานให้หลวงได้ หรือไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ ไพร่อาจขายตนเองไปเป็นทาส เพื่อให้นายทาสช่วยเหลือ
เรื่องราวในซีรีส์บางกอกคณิกา ดำเนินมาจนถึงกลางเรื่อง ที่เฉลยว่า แม่ราตรี (อ้อม พิยดา) เป็นทาสของพระยาจรัล (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) จากการถูกพ่อแม่ขายให้นายเงิน แม่ราตรี จึงนับว่าเป็น ทาสสินไถ่ และหากแม่ราตรีมีลูก ลูกที่เกิดมาก็ต้องเป็นทาสในเรือนเบี้ย
การเลิกทาส
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงริเริ่มการเลิกทาส ที่ทาสในเรือนเบี้ยเป็นกลุ่มแรก เหตุเพราะทรงมีพระราชดำริว่าทาสในเรือนเบี้ยนั้นพอลืมตามาก็ต้องเป็นทาสเลย และต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะจนอายุ 100 ปี ก็ยังคงมีราคาค่างวด ซึ่งดูไม่มีความกรุณาต่อลูกทาสเลย เด็กเหล่านี้ไม่รู้เรื่องรู้ราวต้องเป็นทาสเพราะพ่อแม่ของตนเป็นทาส แต่จะให้ทาสในเรือนเบี้ยเกิดมาแล้วพ้นจากความเป็นทาสเลยก็จะเป็นอันตรายต่อเด็กเหล่านี้อีก เพราะนายทาสเมื่อเห็นว่าลูกทาสเหล่านี้ไร้ประโยชน์ ก็อาจไม่ประสงค์ให้มารดาของเด็กเลี้ยงลูกให้เติบโตสืบไป
สิ่งแรกที่พระองค์ทรงทำคือการปรับค่าตัวทาสในเรือนเบี้ย จากเดิม ทาสชายในช่วงอายุ 26 – 40 ปี ค่าตัวสูงสุดถึง 14 ตำลึง (56 บาท) ส่วนทาสหญิงในช่วงอายุ 21 – 30 ปี ค่าตัวสูงสุดคือ 12 ตำลึง (48 บาท) ก็ทรงเปลี่ยนค่าตัวสูงสุดของลูกทาสทั้งชายหญิงเป็นช่วงอายุ 8 – 9 ปี จากนั้นจึงค่อย ๆ ลดลงไปทุกปี จนกระทั่งอายุครบ 21 ปี ก็คือว่าหมดเกษียณอายุทาส ให้เป็นไทแก่ตัว การกำหนดช่วงอายุเช่นนี้ พระองค์ทรงใช้ขนบธรรมเนียมไทยเป็นกุศโลบาย เพราะผู้ชายก็ถึงเวลาออกบวชทดแทนบุญคุณบุพการี ส่วนผู้หญิงก็ถึงเวลาออกเรือนมีสามีและมีลูก
โดยวิธีการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรึกษากับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ล้วนเห็นแจ้งตรงกันว่าการเริ่มต้นด้วยทาสในเรือนเบี้ยตามวิธีการดังกล่าว จะไม่กระทบกระเทือนตัวนายทาสมากมาย เพราะทาสกลุ่มอื่นก็ยังคงอยู่รับใช้นายทาส นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมองการณ์ไกล ทรงมีพระราชดำริว่า หากต้องการให้ลูกทาสเป็นไทอย่างแท้จริง แล้วไม่กลับมาเป็นทาสอีก ก็ต้องทำให้มีความรู้ติดตัว เพื่อไปทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วย พระองค์จึงส่งเสริมให้ลูกทาสทุกคนได้มีการศึกษาผ่าน เช่น การเรียนภาษาไทย หรือเลข เพื่อให้มีความรู้เพียงพอที่จะประกอบอาชีพเสมียนได้ ส่วนผู้หญิงย่อมควรแก่การศึกษาเรื่องครัวเรือน
ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงโปรดให้ออกพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย มีเนื้อหาใจความว่าด้วยการแก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยสั่งให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่อทาสผู้ใดก็ตามมีอายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ โดยมีผลบังคับใช้กับทาสทุกคนที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา และนอกจากนี้ยังห้ามมิให้ซื้อ-ขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีกลับมาเป็นทาสต่อไปอีก
หลังจากที่ทรงมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาทาสไทยมาเป็นเวลาร่วม 30 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงออกพระราชบัญญัติเลิกทาสมีชื่อว่า พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 ในปี พ.ศ. 2448 มีใจความสำคัญว่า วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ให้บุคคลผู้เป็นลูกทาสในเรือนเบี้ยทุกคนเป็นไท ส่วนทาสประเภทอื่นทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ก็ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว
รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ความวิริยะอุตสาหะจัดการเลิกทาสด้วยวิธีการละมุนละม่อม ค่อย ๆ ทำตามลำดับขั้นตอน จนในที่สุดข้าทาสและไพร่ที่หลุดพ้นจากระบบดั้งเดิม ได้กลายเป็นราษฎรสยามและต่างมีโอกาสประกอบอาชีพหลากหลาย