เว็บไซต์สำนักคณะกรรมการอาหารและยา หรืออย.ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ “ชาจากพืช” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ชาจากพืช
ชาเป็นเครื่องดื่มที่คนไทยนิยมบริโภคอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการดื่มร้อนหรือเย็น เพราะนอกจากการดื่มชาเพื่อความอร่อย ช่วยดับกระหายแล้ว ยังมีรสชาติที่หลากหลายให้เลือกดื่มอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นชาที่ได้จากพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้หลากหลายชนิด ที่เรียกว่า “ชาจากพืช”
ชาจากพืช คือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากส่วนต่าง ๆ ของพืช ได้แก่ ผล เนื้อผล เนื้อในผล เนื้อในเมล็ด จาว เปลือก ต้น ลำต้น ทั้งต้น ต้นอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอกอ่อน หัว เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน ราก เถา ใบ ดอก กลีบดอก กลีบเลี้ยง เมล็ด ที่ผ่านกระบวนการทำให้แห้ง อาจผ่านการบดหยาบหรือลดขนาด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปบริโภคโดยการต้มหรือชงกับน้ำ จะต้องไม่มีการปรุงแต่งกลิ่น รส ด้วยวัตถุอื่น เช่น น้ำตาล เกลือ เครื่องปรุงรสต่าง ๆ รวมทั้งวัตถุเจือปนอาหาร โดยพืชเหล่านี้ต้องมีประวัติการนำมาใช้เป็นอาหาร ไม่พบสารพิษธรรมชาติ หรือสารอื่นที่อาจมีอันตรายต่อสุขภาพ ตามที่ระบุในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 426) พ.ศ.2564 เท่านั้น วิธีการบริโภคต้องไม่มีข้อบ่งใช้ ไม่จำกัดขนาดรับประทานและไม่จำกัดกลุ่มบริโภคเป็นการเฉพาะ รวมทั้งไม่มีความมุ่งหมายหรือหวังผลในเชิงบำบัด บรรเทา ป้องกัน รักษาโรค ไม่มีความมุ่งหมายให้ผลต่อการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น
ตัวอย่างวัตถุดิบสำหรับชาจากพืช เช่น มะตูม กระเทียม หอม ขิง ข่า มะกรูด ตะไคร้ ผักโขม ผักชี สับปะรด ขนุน มะม่วงหาวมะนาวโห่ องุ่น บัวบก กะเพรา โหระพา ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ลูกเดือย เก๊กฮวย มะลิ ลาเวนเดอร์ กุหลาบ บัว ดาวเรือง โสมเกาหลี เป็นต้น
เลือกซื้อชาจากพืชอย่างไรให้ปลอดภัย ได้คุณภาพ
1.อ่านฉลากอาหารก่อนซื้อ โดยฉลากที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ต้องมีข้อความภาษาไทย และมีรายละเอียด ดังนี้
– ชื่ออาหาร
– เลขสารบบอาหาร
– ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ หรือ ชื่อและที่ตั้งผู้นำเข้าและประเทศผู้ผลิต
– น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ
– ส่วนประกอบที่สำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนัก แสดงส่วนของพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบ
– วันเดือนและปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน
– มีข้อความแสดงคำเตือนสำหรับผู้แพ้อาหาร
2.บรรจุภัณฑ์ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยบุบหรือฉีกขาด มีการเก็บรักษาในสภาวะที่เหมาะสม
3.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้
4.หลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ชาที่มีการโฆษณาอวดอ้างว่าสามารถให้ผลในการบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค
ข้อมูลอ้างอิง
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ ๔๒๖)พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ชาจากพืช
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ ๔๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ชาจากพืช