Tree Management Agency ศิลปะที่ชวนตั้งคำถามด้านสิ่งแวดล้อม ถึงมนุษย์ผู้อาจหาญจัดการต้นไม้ใหญ่

Home » Tree Management Agency ศิลปะที่ชวนตั้งคำถามด้านสิ่งแวดล้อม ถึงมนุษย์ผู้อาจหาญจัดการต้นไม้ใหญ่
Tree Management Agency ศิลปะที่ชวนตั้งคำถามด้านสิ่งแวดล้อม ถึงมนุษย์ผู้อาจหาญจัดการต้นไม้ใหญ่

  • การนำงานศิลปะมาวิพากษ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ศิลปินสองคนนัดกันทำงานมาร่วมนิทรรศการเดียวกัน โดยที่แต่ละคนผลิตผลงานต่างสถานที่ ต่างวาระ โดยจับประเด็นเดียวกันว่าด้วย “ไม้ใหญ่” ทำให้นิทรรศการ Tree Management Agency น่าสนใจมาก
  • Tree Management Agency นำเสนอแง่มุมด้านสิ่งแวดล้อมโดย 2 ศิลปิน 2 สัญชาติ ได้แก่ ประทีป สุธาทองไทย จากไทย และ Robert Zhao Renhui จากสิงคโปร์

การนำงานศิลปะมาวิพากษ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ศิลปินสองคนนัดกันทำงานมาร่วมนิทรรศการเดียวกัน โดยที่แต่ละคนผลิตผลงานต่างสถานที่ ต่างวาระ โดยจับประเด็นเดียวกันว่าด้วย “ไม้ใหญ่” ทำให้นิทรรศการ Tree Management Agency ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่ Warin Lab Contemporary เป็นนิทรรศการศิลปะคู่ที่ไม่ธรรมดา และยังค่อยๆ สร้างกระแสความสนใจตลอดระยะเวลาจัดแสดงเดือนกว่าที่ผ่านมา

หลังจากที่สองศิลปินที่เป็นเพื่อนกันมานานอย่าง ประทีป สุธาทองไทย จากไทย และ Robert Zhao Renhui จากสิงคโปร์คิดว่าจะแสดงผลงานร่วมกันมานาน ก็มาลงตัวด้วยการร่วมถกถึงปัญหาการที่ต้นไม้ใหญ่ถูกย่ำยีด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งในเขตเมืองอย่างสิงคโปร์ และเขตชนบทอย่างในภาคอีสานของไทย จนกลายมาเป็นโครงการทางศิลปะผสมการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมกันไปด้วย ผ่านงานภาพพิมพ์ที่มีฐานจากภาพถ่าย และ video art ด้วยมุมมอง เนื้อหา และเทคนิคที่แตกต่างกัน

แค่ชื่อนิทรรศการ  Tree Management Agency ก็มีความย้อนแย้ง โดยคำ Tree Management ให้ความรู้สึกถึงการจัดการที่น่าจะส่งผลอันดีต่อสิ่งที่ธรรมชาติสรรสร้างอย่าง “ต้นไม้” แต่ในขณะเดียวกันก็กระตุกคิดให้นึกถึงการรุกล้ำไปจนถึงทำลาย ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการที่เป็นชาวสิงคโปร์อย่าง John Z.W. Tung (ผู้ที่เคยเป็นภัณฑารักษ์ร่วมของ Singapore Biennale 2016 และ Singapore Biennale 2019) ได้ตั้งคำถามให้ผู้ชมได้ไปคิดต่อว่ามนุษย์ใช้สิทธิอะไร และมีความสามารถเพียงพอหรือไม่ในการเข้าไปจัดการสิ่งที่มีขนาดใหญ่อย่างต้นไม้ที่ล้วนต่างใช้เวลานานหลายสิบปีในการเจริญเติบโต

ผลงานภาพพิมพ์ชุด The 19 ของ Robert Zhao Renhui นำเสนอภาพพิมพ์นกจำนวนเดียวกันกับชื่อชุดผลงาน ที่แต่ละภาพได้นำเสนอภาพนกต่างสายพันธ์ที่ตัวศิลปินได้ซ่อนกล้องถ่าย ซึ่งนกทั้ง 19 สายพันธ์ดังกล่าวคือนกที่เคยมาเกาะต้นไทรใหญ่ในบริเวณอดีตศูนย์ศิลปะ Substation ที่เขาลงทุนสำรวจและนับได้ ก่อนที่จะต้นไทรจะถูกล้อมออกไป เนื่องด้วยที่ดินบริเวณนั้นถูกรื้อถอนเพื่อปรับเปลี่ยนหน้าที่การใช้งาน

จุดเด่นทางเทคนิคของ Robert คือการใช้ลูกเล่นในถ่ายภาพในออกเสมือนเป็นภาพที่ถ่ายยามกลางคืน ทำให้อณูภาพออกมาแตกออกมาเป็นจุดเล็กๆ หยาบทั่วทั้งภาพ ดูลึกลับแปลกตา นอกจากนี้ในทางเนื้อหา Substation ถือได้ว่าเป็นศูนย์ศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกๆ ของสิงคโปร์ และยังเป็นแหล่งรวมของการแสดงงานและการผลิตกิจกรรมทางศิลปะร่วมสมัยชั้นดี ข่าวคราวการทุบรื้อสถานที่ที่ทรงคุณค่าต่อจิตใจของคอศิลปะของเกาะสิงคโปร์แห่งนี้จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และภาพของต้นไทรดังกล่าวก็ถือว่าเป็นมุมคุ้นตาหนึ่งของผู้มาเยี่ยมเยือนเป็นประจำ

ในขณะที่ศิลปินอย่าง Robert Zhao Renhui เล่นประเด็นผลกระทบจากการหายไปของไทรใหญ่เพียงต้นเดียวต่อพื้นที่ขนาดเล็กของประเทศเกาะเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ แต่ศิลปินไทยอย่าง ประทีป สุธาทองไทย เลือกที่จะวิพากษ์ประเด็นสเกลใหญ่อย่างจุดโหว่ของ พรบ.ป่าไม้ ฉบับ พ.ศ.2562 ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศของไทยทั้งประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ก็ยึดโยงกับประเด็นเดียวกันคือ โดยใช้กรณีศึกษาของการล้อมต้นไม้ใหญ่

ประทีปผู้ที่แม้จะเกิดและเติบโตในกรุงเทพ แต่กลับมีความสนใจในภาคอีสาน และได้ใช้ชีวิตการทำงานในฐานะครูศิลปะที่นั่นมาอย่างยาวนาน ทำให้เห็นภาพผลกระทบจาก พรบ ป่าไม้ฉบับใหม่ที่อนุญาตให้ตัดไม้ใหญ่บางสายพันธ์ได้ ทั้งที่แต่ก่อนต้องขออนุญาตการตัดก่อนแม้จะอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ทำให้เกิดธุรกิจการล้อมต้นไม้ใหญ่ตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะในเขตภาคอีสานที่เขารัก

UPROOT คือชื่อชุดผลงานที่ประหนึ่งเป็นกึ่งศิลปะกึ่งสารคดีในการตามติดทีมเอกชนล้อมต้นไม้เจ้าดังไปทั่วอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เพื่อตามเก็บภาพต้นชุมแสงที่กำลังถูกล้อม ซึ่งถือว่าเป็นไม้ใหญ่ที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ หายาก ฟอร์มสวน เป็นที่นิยมของนักจัดสวนบ้าน นอกจากการใช้เทคนิคภาพพิมพ์ที่มีเทคโนโลยีสูงอย่าง glicee print แล้ว ในตอนถ่าย ประทีปยังเลือกเอาเวลากลางคืนหรือยามโพล้เพล้เป็นเวลาลั่นกล้อง และได้ยังจัดวางแสงอย่างพิสดารให้เน้นลำแสงพุ่งออกมาจากฐานราก เสมือนว่าเหล่าไม้ใหญ่ที่กำลังถูกล้อมนั่นเริ่มจะทะยานลอยได้ นอกจากนี้ยังมีลูกเล่น ด้วยการใช้พิกัด GPS เป็นส่วนหนี่งในการตั้งชื่อภาพแต่ละภาพอีกด้วย

นอกจากงานภาพพิมพ์แล้ว ไฮไลท์สำคัญของนิทรรศการคือการประชันงาน video art แสดงภาพต้นไม้ใหญ่ของทั้งสองศิลปิน ทั้ง A Really Big Tree ที่ Robert Zhao Renhui บันทีกไว้ในปี 2014 ที่ Substation และ ทั้ง Xanthophyllum lanceatum in Yasothon ที่นำเสนอภาพต้นชุมแสงที่ ประทีป สุธาทองไทย ได้บันทึกไว้  

Fact File

  • นิทรรศการ Tree Management Agency จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มีนาคม 2567 ที่ Warin Lab Contemporary

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ