ย้อนโพสต์ “หมอกฤตไท” สะท้อนปัญหาฝุ่น PM 2.5 ห้องรอฉายแสงค่าฝุ่นยังพุ่ง ห่วงอนาคตเด็กๆ ไม่ควรต้องซื้ออากาศหายใจ
จากเรื่องราวของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเพจเฟซบุ๊กเพจ “สู้ดิวะ” แบ่งปันเรื่องราวป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ซึ่งมีชาวเน็ตให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน หมอกฤตไท แจ้งว่า ผมคงอยู่ได้อีกไม่นาน ซึ่งโพสต์ดังกล่าวสร้างความใจหายให้กับหลายๆ คน โดยเฉพาะคนในวงการการแพทย์ เพราะคุณหมอกฤตไทเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) ที่สุดท้ายต้องมาใช้หลักการ Palliative care หรือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง กับอาการป่วยของตัวเอง
และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 คุณหมอกฤตไท ก็ได้จากโลกนี้ไปท่ามกลางความอาลัยของครอบครัวและผู้คนในสังคมที่ติดตามให้กำลังใจมาโดยตลอด
สิ่งหนึ่งที่สังคมต่างสะท้อนใจคือ หมอกฤตไท เป็นหมอหนุ่มวัยเพียง 28 ปี ที่ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี แต่เขากลับป่วยเป็น “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” และมีชีวิตอยู่ได้เพียงปีเศษ หลังรู้ตัวว่าป่วย แม้จะทำการรักษาอย่างสุดกำลัง สุดท้ายคุณหมออนาคตไกลก็ต้องจากไปด้วยวัยเพียง 29 ปี
โดยระหว่างรักษาตัว เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา หมอกฤตไท ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ สู้ดิวะ เล่าถึงปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งหลายคนต่างคาดว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คุณหมอต้องเผชิญกับโรคร้าย ความว่า
เช้านี้ผมขึ้นตื่นมาพร้อมกับค่าฝุ่น 186 ในห้องที่กำลังรอรับการฉายแสงครับ
ผมไม่ได้บอกว่า ฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ผมเป็นมะเร็งหรอกครับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผล ปัจจุบันผลการศึกษามากมาย มันพิสูจน์มาหมดแล้วครับ พวกตัวเลขค่าฝุ่นเท่านี้เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่กี่มวนอะไรแบบนี้ ลองหาข้อมูลได้เลยครับ
และตอนนี้ผมอาการไม่สู้ดีนัก กำลังเข้ารับการรักษาด้วยการฉายแสงให้กับมะเร็งในสมองก้อนใหม่เวลาของผมเหลือน้อยลงทุกทีแล้วครับในระหว่างที่ผมนั่งอยู่ในห้องพักโรงพยาบาล ผมก็คิดว่า ยังมีเรื่องไหนที่ผมอยากพูด แต่ยังไม่ได้พูด
หนึ่งในนั้นก็คือ เรื่อง ฝุ่น PM 2.5
อย่างที่ทุกท่านทราบตัวผมเองเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลที่ชอบออกกำลังกายมากครับ แน่นอน ถึงผมจะพอมีความรู้ แต่ผมก็คือวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่ง ที่ความฝันในการได้แชมป์บาสเกตบอลของผมมันใหญ่มากพอที่จะทำให้ผมไปซ้อมในวันที่ค่าฝุ่นแย่มากๆ
ผมก็มองว่าร่างกายผมเนี่ยก็น่าจะฟิตอยู่แหละ เราไปออกกำลังกายได้ฝึกปอดฝึกหัวใจ สูดฝุ่นหน่อย ก็หักล้างกันไป ไม่เป็นไรหรอก คนอื่นก็สูดกัน ไม่เป็นไรหรอกน่า
แล้ว ผมก็เป็นมะเร็งปอดครับ
ผมต้องทำทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง ติดเครื่องฟอกอากาศ ทำห้องความดันบวก เพื่อให้อากาศมันสะอาดจริงๆ
คำถามที่ผมมี คือมันเป็นความรับผิดชอบของประชาชนจริงหรือไม่ ที่ต้องแบกรับค่าหน้ากาก ค่าเครื่องฟอก ประชาชนหลายอาชีพเองก็ไม่ได้สะดวกพอที่จะหลีกเลี่ยงฝุ่นอันตรายนี้ ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะติดตั้งเครื่องมือที่จะเพิ่มคุณภาพอากาศที่พวกเขาต้องหายใจเข้าไปทุกวันนี้
มันน่าเศร้ามากเมื่อมองว่าความเหลื่อมล้ำของประเทศเรามันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจแต่เป็นตั้งแต่พื้นฐานเรื่องของอากาศหายใจที่แสนจะสำคัญต่อชีวิตคน
เราต้องเป็นประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริงๆเหรอ?
ผมไม่ใช่นักการเมือง และผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ ผมเป็นเพียงประชาชนที่เกิดคำถามเชิงโครงสร้างต่อ “การจัดลำดับและให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศที่ประชาชนอย่างเราหายใจกันอยู่ทุกวันนี้”
ผมคิดแบบตรรกะของคนทั่วไปเลยคือเราต้องเริ่มแก้ปัญหา PM2.5 ให้ตรงจุดก่อนไหมครับ ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญหรือให้น้ำหนักกับการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดของ PM2.5 อย่างจริงจังมากพอ มันจะต้องมีหน่วยงานจริงจังขึ้นมาแล้ว เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ คนเก่งๆในประเทศเรามีเยอะแยะ งบประมาณเราก็มี นักการเมืองก็มี นักวิชาการก็มี
ประเทศเราติดอันดับปัญหาฝุ่นในระดับโลกกันมาติดต่อกันหลายปี ทำไมเราถึงยังไม่เห็นความชัดเจนในการให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพอากาศ หรือความชัดเจนในการพยายามหาต้นตอของปัญหาเฉพาะแต่ละพื้นที่ มันไม่ใช่แค่การเผาป่า หรือปัญหารถติด มันมีหลายสาเหตุแหละครับที่ทำให้มีปัญหาฝุ่น
แต่ประเทศไทยกลับยังไม่มีงานศึกษาที่ชัดเจนและลงลึกถึงสาเหตุ PM 2.5 หลัก ๆ ในประเทศไทยว่าตกลงอะไรคือสาเหตุหรือแหล่งกำเนิดหลักของ PM2.5 ในประเทศไทยแต่ละภาคส่วนกันแน่ มันต้องมีการวิเคราะห์และไปแตะสิ่งที่เป็นรากฐานของปัญหาของฝุ่น PM2.5 อย่างแท้จริงสิ บ้านเราจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นได้อย่างยั่งยืนสักที จริงไหมครับ
เราจะแก้ปัญหาฝุ่นควันแบบเป็นปัญหา “เร่งด่วน” ไปทุกปีแบบนี้ไม่ได้นะครับ
ผมน่ะ คงอยู่ได้ไม่นานหรอกครับ
แต่เด็กน้อยแสนน่ารักที่ทักทายผมในลิฟท์หลังจากที่ผมไปฉายแสงมาเมื่อวาน
ผมแค่คิดว่าเด็กเหล่านั้นไม่ควรต้องมารับความเสี่ยงกับโรคร้ายหรือภาวะเจ็บป่วยเหมือนกับผม เขาควรจะได้มีสิทธิพื้นฐานของมนุษยชาติ คือการได้มีอากาศสะอาดหายใจ ได้เล่นบาสกับเพื่อนกลางแจ้ง โดยที่ไม่ต้องใส่หน้ากาก
เขาไม่ควรต้องมาซื้ออากาศหายใจครับ
ผมเพียงหวังให้เขาจะได้อยู่ในประเทศที่อากาศสะอาด และมีชีวิตที่สดใสร่าเริงไปได้นานที่สุดครับ