AFP ชี้ "อานนท์" อาจารย์นิด้าคนดัง เผยแพร่ข้อมูลผิด แปลข่าววัคซีนสิงคโปร์ทำคนเข้าใจผิด

Home » AFP ชี้ "อานนท์" อาจารย์นิด้าคนดัง เผยแพร่ข้อมูลผิด แปลข่าววัคซีนสิงคโปร์ทำคนเข้าใจผิด
AFP ชี้ "อานนท์" อาจารย์นิด้าคนดัง เผยแพร่ข้อมูลผิด แปลข่าววัคซีนสิงคโปร์ทำคนเข้าใจผิด

เอเอฟพีตรวจสอบโพสต์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ แพร่ข้อมูลผิด หลังแปลเนื้อหาในข่าวจากสื่อนอกเกี่ยวกับโครงการฉีดวัคซีนของสิงคโปร์

17 มิถุนายน เว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักข่าวเอเอฟพี หรือ AFP fact check ประเทศไทย รายงานว่าได้ทำการตรวจสอบโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของ อาจารย์นิด้าคนดัง โดยชี้ว่า ข้อความบนโพสต์ถูกทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับโครงการฉีดวัคซีนของประเทศสิงคโปร์ 

AFP fact check ระบุว่า โพสต์เฟซบุ๊กจำนวนมากได้แชร์บทความข่าวเกี่ยวกับนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศสิงคโปร์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าสิงคโปร์ได้ปฎิเสธการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคและโมเดอร์นา และหันไปใช้วัคซีนโคโรนาแวคซึ่งผลิตโดยบริษัทซิโนแวคของประเทศจีนแทน คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด บทความดังกล่าวไม่ได้รายงานว่าประชาชนสิงคโปร์ปฎิเสธการฉีดวัคซีนของของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2564 รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงใช้ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคและโมเดอร์นาเป็นวัคซีนหลัก ในขณะที่วัคซีนโคโรนาแวค หรือซิโนแวค เป็นวัคซีนทางเลือกที่มีอยู่ในคลินิกเอกชน

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 โดยเป็นโพสต์ของ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยและรอยัลลิสต์ ซึ่งมีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊กกว่า 80,000 คน

โพสต์ดังกล่าวได้แนบลิงก์ไปยังบทความฉบับนี้ของ Channel News Asia (CNA) ช่องโทรทัศน์ของประเทศสิงคโปร์ เกี่ยวกับโครงการฉีดวัคซีนในประเทศสิงคโปร์ คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “มั่นใจว่าชาวสิงคโปร์ฉลาดกว่าสามสัสและสามกีบอย่างแน่นอน ที่สิงคโปร์ ประชาชนออกมาปฏิเสธ​วัคซีน’​ไฟเซอร์​กับโมเดอน่า’ เริ่มทนการแพ้ ไม่ไหว ขอฉีดซิโนแวคแทน”

“สามกีบ” หรือว่าสามนิ้ว เป็นชื่อที่บุคคลบางกลุ่มใช้เพื่อเรียกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มดังกล่าวใช้การชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายจังหวัดทั่วประเทศในปี 2563 และ 2564

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด อาจารย์คนดังนำเสนอเนื้อหาในความบทความของ CNA ผิดจากข้อเท็จจริงที่เขียนอยู่ในรายงาน

บทความดังกล่าวซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 มีพาดหัวที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “คนที่ถูกปฎิเสธการฉีดหรือมีอาการแพ้ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา จะได้รับการชดเชยถ้าพวกเขาตัดสินใจรับวัคซีนซิโนแวคที่คลินิกเอกชน”

บทความดังกล่าวรายงานว่าบุคคลที่มีอาการแพ้ หรือ “ถูกปฎิเสธ” จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา จะได้รับการชดเชยโดยรัฐบาลสิงคโปร์ ถ้าบุคคลในกลุ่มดังกล่าวตัดสินใจเลือกฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวคที่คลินิกเอกชนแทน

ก่อนการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนจะต้องกรอกเอกสารคัดกรองและเอกสารข้อมูลวัคซีน ณ สถานที่ฉีดวัคซีน

จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขประเทศสิงคโปร์ บุคคลที่ไม่ผ่านการประเมินเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา จะสามารถ “รับวัคซีนได้ในภายหลังเมื่อวัคซีนดังกล่าวมีข้อมูลมากขึ้น” หรือ “สามารถรับวัคซีนตัวอื่นแทน”

ในบทความของ CNA ไม่ได้มีเนื้อหาที่กล่าวว่าสิงคโปร์ปฎิเสธการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคหรือโมเดอร์นา 

ปัจจุบัน สิงคโปร์ใช้วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ และโมเดอร์นาเป็นหลัก และการฉีดวัคซีนไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พักอาศัยระยะยาวในประเทศสิงคโปร์ เดอะสเตรตไทมส์ (The Strait Times) สื่อท้องถิ่นรายงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในประเทศสิงคโปร์แนะนำให้บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่นมีโรคประจำตัวหรือมีประวัติแพ้ยารุนแรง ชะลอการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าจะมีข้อมูลที่สามารถประเมินความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ได้

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 แถลงการณ์ฉบับนี้ได้ถูกเผยแพร่แถลงการณ์บนเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ โดยเนื้อหาระบุว่าบุคคลที่มีอาการแพ้รุนแรงหรือมีอาการแพ้วัคซีนโดสแรก จะสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโคโรนาแวคได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ที่คลินิกเอกชนที่ได้รับการอนุมัติ

นอกจากโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวคแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์กำลังอยู่ระหว่างการประเมินวัคซีนอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบบ mRNA เพื่อเป็นตัวเลือกเพิ่มเติมให้กับประชาชน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ