ฟุตบอลยุโรป นับเป็นการแข่งขันที่แฟนบอลทั่วโลกสนใจมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก, ยูโรปา ลีก หรือแม้แต่แนวคิดใหม่ “ซูเปอร์ ลีก” ที่สร้างกระแสสั่นสะเทือนลูกหนังระดับทวีป
ในฤดูกาล 2021-22 ฟุตบอลยุโรปจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น จากการถือกำเนิดของ “ยูฟ่า ยูโรปา คอนเฟอเรนซ์ ลีก” ทัวร์นาเมนต์รายการที่ 3 ของยูฟ่า ที่จะมีทีมดังอย่าง ท็อตแนม ฮอทสเปอร์ หรือ โรมา ลงแข่งขัน
Main Stand จะมาเจาะลึกศึกสโมสรยุโรปถ้วยใหม่ ถึงความเป็นมา, กติกาการคัดเลือกทีมเข้าแข่งขัน และจุดประสงค์ที่แท้จริงของ คอนเฟอเรนซ์ ลีก
ฟุตบอลเพื่อชาติขนาดเล็ก
โปรเจกต์ คอนเฟอเรนซ์ ลีก ออกสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายน ปี 2015 หลัง 54 ชาติสมาชิกของยูฟ่า บรรลุข้อตกลงสร้างทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลรายการใหม่ เพื่อรองรับสโมสรที่ตกรอบคัดเลือก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และยูโรปา ลีก
หากเราย้อนกลับไปดู การแข่งขันฟุตบอลยุโรป ฤดูกาล 2015-16 มีถึง 27 ประเทศ ที่สามารถคว้าโควตารอบคัดเลือก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก หรือ ยูโรปา ลีก แต่ไม่มีสโมสรผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายในแต่ละรายการ
ชาติที่ว่าได้แก่ ยิบรอลตาร์, ไอร์แลนด์เหนือ, อาร์เมเนีย, หมู่เกาะแฟโร, อันดอร์รา, เอสโตเนีย, ซาน มาริโน, เวลส์, ไซปรัส, สโลวีเนีย, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา, มอนเตเนโกร, มาซิโดเนีย (มาซิโดเนียเหนือในปัจจุบัน), มอลตา, ไอซ์แลนด์, ฟินแลนด์, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, ไอร์แลนด์, โรมาเนีย, บัลแกเรีย, เซอร์เบีย, ฮังการี, จอร์เจีย, สโลวเกีย, มอลโดวา และ ลักเซมเบิร์ก
นั่นหมายความว่า ชาติสมาชิกครึ่งหนึ่งของยูฟ่า ไม่มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศบอลยุโรปรอบสุดท้าย และที่แย่ไปกว่านั้น ต่อให้ทีมขนาดเล็กจากประเทศเหล่านี้หลุดเข้ารอบสู่รอบแบ่งกลุ่มได้ ส่วนใหญ่มักถูกเขี่ยตกรอบ มีสถานะไม่ต่างจากไม้ประดับรายการ
คอนเฟอเรนซ์ ลีก จึงเป็นรายการใหม่ที่จะเข้ามารองรับการผ่านเข้ารอบสุดท้าย ของสโมสรจากประเทศขนาดเล็ก ในการแข่งขันฟุตบอลระดับทวีป โดยไม่ต้องปรับโครงสร้างอีก 2 รายการที่มีอยู่แล้วให้ยุ่งยาก
“นี่จะเป็นการเปิดโอกาสแก่สโมสรที่ไม่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้าย ให้ได้มีส่วนร่วมในฟุตบอลยุโรป” โวโลดีเมียร์ เกอนินสัน ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลยูเครนกล่าว
“พวกเราสนับสนุนแนวคิดนี้มาก เพราะปกติ เส้นทางบอลยุโรปของทีมจากประเทศเล็ก มักจะจบลงในเดือนสิงหาคม แต่ฟุตบอลรายการนี้ คือโอกาสที่จะทำให้พวกเขาได้เล่นบอลยุโรปในเดือนกันยายน หรือ ตุลาคม”
คอนเฟอเรนซ์ ลีก ควรจะเริ่มต้นในฤดูกาลถัดมา แต่เนื่องจากปัญหาด้านลิขสิทธ์ถ่ายทอดสด ที่ต้องรอให้สัญญาฉบับเดิมหมดลงในปี 2018 โปรเจกต์นี้จึงไม่ยังไม่เป็นรูปร่าง จนกว่าเวลานั้นจะมาถึง
เดือนธันวาคม ปี 2018 ยูฟ่า ยืนยันการถือกำเนิดของฟุตบอลรายการใหม่ “ยูฟ่า ยูโรปา คอนเฟอเรนซ์ ลีก” อย่างเป็นทางการ (ชื่อเดิมคือยูโรปา ลีก 2) ถือเป็นทัวร์นาเมนต์ลำดับที่ 3 ของฟุตบอลยุโรป และจะเริ่มแข่งขันอย่างเป็นทางการ ในฤดูกาล 2021-22
ทีมจากอังกฤษต้องเพลย์ออฟ
คล้ายคลึงกับ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก การแข่งขันรอบคัดเลือกของ คอนเฟอเรนซ์ ลีก จะถูกแบ่งเป็นสองสาย ได้แก่ “เส้นทางหลัก” และ “เส้นทางแชมเปี้ยนส์”
เส้นทางหลัก คือ การแข่งขันรอบคัดเลือกสำหรับทีมที่คว้าโควตาจากการแข่งขันภายในประเทศ โดยมีทั้งหมด 17 ทีม ที่จะผ่านเข้าสู่รอบแบ่งกลุ่ม คอนเฟอเรนซ์ ลีก จากเส้นทางนี้
ส่วน เส้นทางแชมเปี้ยนส์ คือ รอบคัดเลือกสำหรับ 20 ทีม ที่ไม่ผ่านรอบคัดเลือกรอบแรก และรอบคัดเลือกเบื้องต้น จาก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และอีก 5 ทีม ที่ไม่ผ่านรอบคัดเลือกรอบสามจาก ยูโรปา ลีก
ทั้งหมดเป็น 25 ทีม ที่ต้องลงแข่งขันกันอีกครั้งในเส้นทางแชมเปี้ยนส์ เพื่อหา 5 ทีมสุดท้าย ที่จะเข้าแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม คอนเฟอเรนซ์ ลีก
สำหรับ 10 โควต้าที่เหลือของ 32 ทีมในรอบแบ่งกลุ่ม ที่ไม่ถูกรวมในเส้นทางหลัก และเส้นทางแชมเปี้ยนส์ จะถูกมอบให้แก่ 10 ทีม ที่ตกรอบเพลย์ออฟ ยูโรปา ลีก โดยอัตโนมัติ
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจยังมองไม่เห็นภาพว่า คอนเฟอเรนซ์ ลีก จะแตกต่างจาก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก หรือ ยูโรปา ลีก ได้อย่างไร ? ในเมื่อทีมที่คว้าโควตารอบแบ่งกลุ่มแบบอัตโนมัติ ก็มาจากทัวร์นาเมนต์ระดับสูงกว่า
แถมเส้นทางแชมเปี้ยนส์ ก็การันตีโควตาอีก 5 ทีม จากการแข่งขัน 2 รายการใหญ่ แล้วโควต้าอัตโนมัติของทีมจากประเทศเล็ก จะไปอยู่ที่ไหน ?
ยูฟ่าพยายามแก้ปัญหาตรงนี้ ด้วยการมอบโควตารอบคัดเลือกส่วนใหญ่แก่ประเทศขนาดเล็ก โดยชาติสมาชิกที่มีอันดับตามค่าสัมประสิทธิ์ประเทศยูฟ่า (UEFA country coefficients) ลำดับที่ 16-50 จะได้โควตารอบคัดเลือก ประเทศละ 3 ทีม มากที่สุดจากบรรดาชาติทั้งหมดที่มีสิทธิ์ลงแข่งขัน
สำหรับประเทศที่มีค่าสัมประสิทธิ์ ลำดับที่ 6-15 และลำดับที่ 51-55 จะได้โควตารอบคัดเลือก เพียง 2 ทีม ส่วนลำดับ 1-5 หรือ 5 ลีกใหญ่ของยุโรป ได้แก่ ลา ลีกา, พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา, เซเรีย อา และลีก เอิง จะได้โควตารอบคัดเลือก แค่ 1 ทีม ถือว่าน้อยที่สุดใน คอนเฟอเรนซ์ ลีก
ทีมดังที่ชาวไทยคุ้นชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ท็อตแนม ฮอทสเปอร์, โรมา หรือ บี ยาร์เรอัล จึงต้องแข่งขันรอบคัดเลือก เช่นเดียวกับทีมจากประเทศขนาดเล็ก ซึ่งทางยูฟ่ามองว่า การไม่การันตีพื้นที่รอบแบ่งกลุ่มแก่สโมสรจากชาติใหญ่ สามารถเพิ่มโอกาสแก่ทีมฟุตบอลจากประเทศขนาดเล็กได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม 5 ทีมจากลีกใหญ่ จะเริ่มต้นแข่งขันในรอบเพลย์ออฟ หมายความว่า ต้องการชัยชนะเพียงนัดเดียว เพื่อเข้าสู่รอบสุดท้าย ซึ่งก็แทบจะเป็นการการันตีพื้นที่รอบแบ่งกลุ่มไปในตัว
ดังนั้น ทีมฟุตบอลขนาดเล็กที่ฝ่าฟันอุปสรรค เพื่อเข้าแข่งขันรอบสุดท้ายคอนเฟอเรนซ์ ลีก จึงเหลือโควตาราว 12 ที่นั่ง เท่านั้น ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อการแข่งขันเกิดขึ้นจริง ทีมฟุตบอลจากประเทศขนาดเล็ก จะฝ่าฟันสู่การแข่งขันรอบสุดท้าย มากกว่านี้หรือไม่?
เพื่อโอกาส หรือ ค่าลิขสิทธิ์?
การแข่งขันรอบสุดท้าย คอนเฟอเรนซ์ ลีก มีกติกาเหมือนกับ ยูโรปา ลีก ฤดูกาล 2021-22 ทุกประการ ได้แก่ รอบแบ่งกลุ่ม (8 กลุ่ม, กลุ่มละ 4 ทีม), รอบน็อกเอาต์เบื้องต้น, รอบ 16 ทีมสุดท้าย, รอบก่อนรองชนะเลิศ, รอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ
รอบที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจกติกา ย่อมเป็น “รอบน็อกเอาต์เบื้องต้น” ซึ่งเป็นกติกาที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในฤดูกาลหน้า กล่าวคือ อันดับสองของรอบแบ่งกลุ่ม จะไม่มีสิทธิเข้ารอบน็อกเอาต์โดยอัตโนมัติเหมือนเคย แต่ต้องลงแข่งขันกับอีก 8 ทีม ที่ตกรอบจาก ยูโรปา ลีก ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับที่สูงกว่า
8 ทีมที่คว้าอันดับสาม จากรอบแบ่งกลุ่ม ยูโรปา ลีก จะคว้าโควตาเข้าแข่งขัน คอนเฟอเรนซ์ ลีก รอบน็อกเอาต์เบื้องต้นโดยอัตโนมัติ นับเป็นสิทธิพิเศษที่ทีมจากรอบแบ่งกลุ่ม ได้แต่มองตาปริบ ๆ
แน่นอนว่า กติกาตรงนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากจากแฟนบอล เพราะแทนที่ทีมจากไซปรัส หรือลิกเตนสไตน์ จะผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์แบบสบาย ๆ พวกเขากลับต้องมาเสี่ยงเจอกับยักษ์ใหญ่ที่ร่วงลงมาจากยูโรปา ลีก ซึ่งอาจเป็นทีมดังอย่าง เลสเตอร์ ซิตี้, นาโปลี หรือ โอลิมปิก ลียง ก็ได้
การสร้างฟุตบอล ยูฟ่า ยูโรปา คอนเฟอเรนซ์ ลีก เพื่อการันตีว่าจะมีสโมสรจากชาติสมาชิกอย่างน้อย 34 ประเทศ เข้าร่วมแข่งขันในฟุตบอลยุโรปรอบสุดท้าย จึงดูจะเป็นเพียงคำลวงของยูฟ่า ในการกอบโกยผลประโยชน์
เพราะท้ายที่สุดแล้ว ยูฟ่า การันตีความสำเร็จของทีมฟุตบอลจากประเทศเล็ก ๆ เหล่านี้ แค่ “รอบแบ่งกลุ่ม” เท่านั้น ส่วนตำแหน่งแชมป์ หรือรอบรองชนะเลิศ แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะนอกจาก 5 ทีม จากประเทศใหญ่ที่ลงแข่งขันตั้งแต่ต้น ยังมีอีก 8 ทีม จาก ยูโรปา ลีก ที่พร้อมขยับลงมาโกยความสำเร็จในรายการนี้
สิ่งเดียวที่ คอนเฟอเรนซ์ ลีก จะมอบแก่ทุกฝ่าย คือ ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ถูกแบ่งแก่ชาติสมาชิกอย่างทั่วถึง ไม่ใช่เกียรติยศในฟุตบอลยุโรปแบบที่คุยกันไว้ตอนแรก เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ทัวร์นาเมนต์นี้ไม่เคยเกิดขึ้น จนกว่ายูฟ่าจะบรรลุสัญญาค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฉบับใหม่ เมื่อปี 2018
หากเข้าไปในเว็บไซต์ของยูฟ่า จะพบว่า คอนเฟอเรนซ์ ลีก ถูกรวมอยู่ในการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ภายใต้สัญญาเดียวกับยูโรปา ลีก ในปี 2021-24 ถือเป็นโปรเจกต์เพิ่มมูลค่าสัญญาลิขสิทธิ์เดิมที่มีอยู่แล้ว ให้มากขึ้นกว่าเดิมแบบสองเด้ง (ประเทศไทยถูกเสนอขายในสัญญาลักษณะนี้ เช่นเดียวกัน)
การขายของแบบ “แพ็คคู่” ถือเป็นแนวทางที่ยูฟ่าเลือกใช้มาตั้งแต่สัญญาฉบับที่แล้ว เพราะ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จะถูกขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดคู่กับ ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ การเข้ามาของ คอนเฟอเรนซ์ ลีก จึงทำให้สร้างมูลค่าให้สัญญาฝั่ง ยูโรปา ลีก มากขึ้น
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ ยูฟ่า จะมอบโควตาในรายการ คอนเฟอเรนซ์ ลีก ให้กับทีมที่อกหักจาก ยูโรปา ลีก เป็นจำนวนมาก เพราะพวกเขาต้องการดึงทีมจากรายการสูงกว่าเข้ามาเพิ่มเรตติ้ง
เพื่อเปิดโอกาสถึงค่าลิขสิทธิ์ที่อาจเพิ่มขึ้น เพราะต้องยอมรับความจริงว่า คนไทยคงสนใจ ยูโรปา ลีก น้อยลงมาก หากทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ เชลซี ไม่มีโอกาสคว้าแชมป์ แบบที่เกิดขึ้นในระยะหลัง
ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจได้เห็นทีมดังจากลีกใหญ่ประสบความสำเร็จใน คอนเฟอเรนซ์ ลีก เหมือน
กับที่ทีมจากอังกฤษ และสเปน ผูกขาดถ้วย ยูโรปา ลีก ยาวนาน 10 ปี
แต่สำหรับสโมสรฟุตบอลจากประเทศเล็ก เช่น คาราบัก จากอาเซอร์ไบจาน หรือ บาเต จากเบลารุส คงไม่ง่ายนักที่พวกเขาจะผงาดครองความยิ่งใหญ่ในรายการนี้ ในเมื่อมีทีมดังจากลีกใหญ่คอยขวางทางอยู่
สิ่งเดียวที่สโมสรเหล่านี้จะได้ คือเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยที่จะถูกปันผลอย่างทั่วถึง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญ ในสายตาเจ้าของทีมฟุตบอลยุคปัจจุบัน
ยูฟ่า ยูโรปา คอนเฟอเรนซ์ ลีก จะกลายเป็นฟุตบอลเพื่อค่าลิขสิทธิ์ มากกว่าฟุตบอลเพื่อประเทศเล็ก ๆ จริงหรือไม่ ? เวลาเท่านั้นที่สามารถให้คำตอบ