แรกเห็นพระอุโบสถขนาดเล็กๆของ “วัดหนองบัว” ในอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ผู้มาเยือนอาจไม่รู้สึกว่ายิ่งใหญ่อลังการเหมือนวิหารวัดอื่น แต่ทว่าหากมองรายละเอียดให้ถี่ถ้วน จะเห็นถึงความวิจิตรของลวดลายการตกแต่งอันโดดเด่นภายใต้รูปแบบสถาปัตยกรรมไทลื้อที่มีความสมบูรณ์หาชมได้ยาก
ภายในพระอุโบสถ ยังเก็บรักษาความงามล้ำค่าของจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ และนิทานพื้นบ้าน ที่ชี้ชัดว่า ลายเส้น ใบหน้า และสีสันที่ปรากฏบนผนังนั้น เป็นแบบเดียวกันกับจิตรกรรมเลื่องชื่อภายในวัดภูมินทร์วัดคู่บ้านคู่เมืองน่าน ซึ่งสันนิษฐานให้เห็นความเชื่อมโยงว่า จิตรกรรมผาผนังวัดหนองบัวเป็นผลงานของจิตรกรเอกชาวท้องถิ่นคนเดียวกัน ที่มีนามว่า “หนานบัวผัน” ผู้มีเชื้อสายชาวไทลื้อ ซึ่งสร้างสรรค์มรดกด้านศิลปะฝากไว้ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ลองเข้าไปชมจิตรกรรมในพระวิหาร ที่มีลายเส้นและสีสันต่างๆเป็นเอกลักษณ์ในศิลปินคนเดียวกันกับวัดภูมินทร์ และแม้ว่าไม่มีหลักฐานของปีที่วาด แต่หากค่อยๆใช้เวลาชมงานจิตรกรรมจะพบว่า มีภาพเรือกลไฟของชาวตะวันตก มีรูปทหารตะวันตกที่ใช้ดาบติดปลายปีนอย่างที่นิยมแพร่หลายในช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทำให้สันนิษฐานได้ว่า จิตรกรรมเหล่านี้น่าจะสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
วัดหนองบัว จึงไม่เพียงเป็นการตามรอยต้นกำเนิดงานศิลป์ของศิลปินในตำนานเมืองน่าน เพราะพื้นที่บริเวณวัด ยังเป็นศูนย์กลางมรดกด้านวัฒนธรรมชาวไทลื้อ โดยทางวัดเก็บรวมรวมเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน มีเรือนไม้ที่ชาวไทลื้อใช้อยู่อาศัยจริง ใต้เรือนมีอาหารการกินของชาวท้องถิ่นมาวางจำหน่าย ส่วนบนเรือนนั้นจัดแสดงเสื้อผ้า เครื่องดนตรี งานหัตถกรรม และข้าวของเครื่องใช้ในอดีต