เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ AOT พร้อมด้วยคณะกรรมการ ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ได้ร่วมรับฟังผู้บริหารได้ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปภารกิจการดำเนินงานของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) จากคณะผู้บริหาร นำโดย นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ที่ห้องประชุมการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้น ได้นำคณะเดินตรวจเยี่ยมพื้นที่อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงอาคารเทียบเครื่อง SAT-1 ด้วย
ในโอกาสนี้ พล.ต.อ.วิสนุฯ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้รับโอกาสให้มาทำหน้าที่ประธานกรรมการฯในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจาก ทุกประเทศกำลังเร่งส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวและตลาดทุนจากต่างชาติหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งสนามบินถือเป็นประตูบานแรกที่สำคัญในการเปิดรับการเดินทางและการขนส่งของประเทศ จึงมีการแข่งขันเพื่อยกระดับสนามบินของแต่ละประเทศให้ขึ้นแท่นสนามบินที่ดีระดับโลก รวมถึงสนามบินของไทยเราที่มีความได้เปรียบด้านภูมิยุทธศาสตร์ของภูมิภาค
ตนจึงได้ประกาศวิสัยทัศน์ ” ยกระดับการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค สู่ประตูการบินของโลก ” เพื่อกระตุ้นการขับเคลื่อนให้สนามบินของ AOT ติด 1 ใน 50 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลกใน 2 ปีให้ได้
ซึ่งปัจจัย Key success สู่ความสำเร็จ ที่มุ่งเน้นมี 5 ข้อ คือ
- ให้คุณค่ากับ man power ทุกระดับ ทุกฝ่าย
- สร้างความมั่นใจทางธุรกิจ เพื่อความมั่นคงในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
- ความโปร่งใสตรวจสอบได้คือหัวใจสำคัญ
- สร้างการยอมรับจากสังคม ประชาชน ผู้ใช้บริการ ทุกส่วนในอุตสาหกรรมการบิน
- บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการบินในรูป Home Team เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จร่วมกัน
โดยนโยบายเร่งด่วน ที่เร่งทำทันทีคือ
1.เร่งปรับปรุงพื้นที่ทางกายภาพและระบบอำนวยความสะดวกทั้งระบบในและนอกอาคารผู้โดยสาร ของสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ให้พร้อมตอบสนองนโยบายเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติของรัฐบาล
2.การเร่งบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับสุวรรณภูมิเป็นสนามบินชั้นนำตามมาตรฐานสากลให้ได้ในปี 2567
ส่วนนโยบายระยะต่อเนื่อง มี Flag Ship Project สำคัญ 4 โครงการ คือ
1.เร่งขยายอาคารผู้โดยสาร 2 ท่าหลักคือ สุวรรณภูมิ และดอนเมือง โดยจะสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ฝั่งทิศเหนือ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 90 ล้านคนต่อปี โดยขณะนี้ สภาพัฒน์ฯ กำลังพิจารณาเพื่อเสนอ ครม.อนุมัติงบประมาณต่อไป ส่วนดอนเมือง ก็มีความคับแคบ ในขณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก จึงจะมีการปรับปรุงก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้าน เป็น 50 ล้านคนต่อปี โดยขณะนี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณเรียบร้อยแล้ว
2.เร่งติดตั้งระบบช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ Automatic Channels เพื่อสนับสนุนงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ซึ่งเครื่องเดิมของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีอายุกว่า 10 ปี และมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยคาดว่า จะช่วยระบายความหนาแน่นของผู้โดยสารระหว่างประเทศได้คล่องตัวยิ่งขึ้น สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ
3.เพิ่มทางวิ่งเส้นที่ 3 หรือ Runway 3 ที่สุวรรณภูมิ เพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 64 เที่ยวบิน เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง นอกจากนั้น จะมีการปรับปรุงหลุมจอดที่ดอนเมือง โดยอยู่ระหว่างการออกแบบและขออนุญาต จะอนุมัติได้ใน ธ.ค.2567 นี้ และจะเริ่มก่อสร้างช่วง ก.ค.2568-ธ.ค.2573
4.จัดทำ Application “ SAWASDEE” บนสมาร์ทโฟน เพื่อรองรับการบริการผุ้ใช้บริการสนามบิน มี 10 ฟังก์ชัน มีทั้ง การค้า(Commercial) หรือ AOT Point และฟังก์ชันการบริการ อีก 9 รายการ เช่น ด้าน Check-in , Flight&Baggage , Map&Navigation ,Transportation,Airport Service,Shopping , Check Flight&Alert,Help Desk เป็นต้น โดยกำลังพัฒนาฟังก์ชัน เกี่ยวกับ Customer Feedback และ Contact Us รวมถึง Queue Time และ Taxi Reservation มาใช้ด้วย รวมถึงยังพัฒนาระบบ Common Use Passenger Processing System หรือ CUPPS มาใช้รองรับการบริการที่สนามบินทั้ง 6 แห่งของ AOT ด้วย
นอกจากนั้น ในเรื่องของการสร้างผลกำไร ในฐานะบริษัทมหาชน ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างการตลาดเชิงรุกทางการบิน ทั้งการสร้างโอกาสแก่สายการบิน ทั้งการวิเคราะห์ตลาด การเงิน และเส้นทางการบิน รวมถึงให้ความสำคัญกับการบริหารพื้นที่เชิงพานิชย์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ในอนาคต จะมีสนามบินภูมิภาคโอนจาก กรมท่าอากาศยาน มาอยู่ในการบริหารของ AOT คือ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อุดรธานี และ กระบี่ ซึ่งจะต้องมีการร่วมหารือกับทุกฝ่ายทั้งจากส่วนกลาง และภูมิภาค เพื่อยกระดับความสามารถของสนามบินทั้ง 3 แห่ง ให้เป็นประตูบานใหม่ของประเทศที่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก ให้เข้ามาสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ภูมิภาคดังกล่าวตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย
“ เราคาดหวังให้ สนามบินของเรา เป็น Logistic Hub เป็น Cross Border E-Commerce ด้านการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงปัจจัยการขับเคลื่อนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบขนส่งสาธารณะ การบริหารพื้นที่อาคาร การพัฒนาระบบบริการโรงซ่อมขนาดเบาอากาศยาน เป็นต้น ที่สำคัญคือ การพัฒนาต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ ทั้งคู่ค้า ลูกค้า และคู่แข่ง เพื่อวางกลยุทธิ์ให้บรรลุผลให้ได้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด “ พล.ต.อ.วิสนุฯกล่าว