เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมาย ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงข่าว ประกาศเข้าฤดูฝุ่น ขอให้ทุกหน่วยงานคุมเข้ม ควบคุมต้นตอแหล่งกำเนิดฝุ่น
- ราชกิจจาฯ ประกาศใช้กฎกระทรวง ‘ลดค่าโอน-จดจำนอง’ บ้าน-คอนโด
- ดื่มน้ำตอนเช้าให้ถูกวิธี ได้ประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายด้าน
- ระวัง! ใครที่เล่น Tiktok-Reel มากๆ เสี่ยงกระตุ้นโรคจิตแฝง เห็นภาพหลอน
ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร กล่าวว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งมอบหมายท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ได้เร่งรัด กำชับ เน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปี 2567 อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดพื้นที่มุ่งเป้า 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน พื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก และการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ซึ่งเป็นการควบคุมที่ต้นตอของฝุ่น และในต้นปีนี้รัฐบาล ได้ปรับกลยุทธ์การสื่อสารด้วยการให้ข้อมูลที่ชัดเจน ตรงประเด็น กลไกการบริหารจัดการ โดยจัดตั้งศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จะสื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น และแนะนำการปฏิบัติตนให้แก่พี่น้องประชาชน ชี้เป้าต้นตอหรือแหล่งกำเนิดฝุ่นของพื้นที่ เช่น การเผาในพื้นที่ป่า นาข้าว อ้อย ข้าวโพด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งให้กับศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด หน่วยงานที่กำกับดูแลแหล่งกำเนิด เพื่อการระงับ ยับยั้งต้นตอ แหล่งที่ก่อให้เกิดฝุ่น
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทย ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝุ่น ซึ่งมีผลมาจากความกดอากาศสูง อัตราการระบายฝุ่นต่ำ ลมสงบทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น สถานการณ์วันที่ 5 มกราคม 2567 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ไปจนถึง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ในขณะที่ภาคเหนือ ภาคอีสานโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือตอนล่าง ว่าต้องเฝ้าระวังช่วงระหว่างวันที่ 5-12 มกราคม 2567 เนื่องจากอัตราการระบายอากาศในพื้นที่ที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งแหล่งกำเนิดหลักที่มีผลต่อสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ การจราจรในพื้นที่ และแหล่งกำเนิดจากนอกพื้นที่ ได้แก่ ฝุ่นจากการเผาในที่โล่งในจังหวัดปริมณฑลและโดยรอบ
นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า การควบคุมแหล่งกำเนิด ต้องกวดขันดูแลการตรวจวัดควันดำจากรถยนต์ดีเซล ฝุ่นจากเขตก่อสร้าง และการระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้ง อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้การเผาในที่โล่งจากพื้นที่ต้นลม ส่งผลให้สถานการณ์ในพื้นที่ท้ายลมทวีความรุนแรงได้ยิ่งขึ้น โดยระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ถึง 3 มกราคม 2567 พบจุดความร้อนสะสมในประเทศไทยทั้งสิ้น 1,207 จุด คิดเป็นสัดส่วนในพื้นที่นาข้าว 38% พื้นที่ไร่อ้อย 13% พื้นที่ไร่ข้าวโพด 6% พื้นที่ป่า 11% พื้นที่เกษตรอื่นๆ 17% และพื้นที่อื่น 17% ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องควบคุมจัดการ
นอกจากนี้ คพ. ในฐานะศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้มีการซักซ้อมแนวปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ 76 จังหวัด ถึงแนวปฏิบัติการด้านสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนผ่านช่องทางต่างๆและการประสานงานกับ ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด หน่วยงานกำกับดูแลแหล่งกำเนิดในการกำกับดูแลกวดขันและเฝ้าระวังการเผาในที่โล่ง ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ดังนั้น ในช่วงสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นละอองมีค่าสูงนั้น ประชาชนควรฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ตามแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ จากแอปพลิเคชัน Air4thai และแฟนเพจศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อใช้ประกอบการดูแลตอนเอง และวางแผนการดำรงชีวิตโดยเฉพาะกิจกรรมกลางแจ้งต่อไป นางสาวปรีญาพร กล่าว
สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 วันที่ 6 มกราคม 2567
กรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ไปจนถึง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือและพื้นที่ภาคอีสานโดยรวมอยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ภาคใต้สถานการณ์โดยรวมอยู่ในระดับดี
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 6 มกราคม 2567 ณ 07:00 น สรุปดังนี้
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.ปทุมธานี กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี และ จ. สมุทรสงคราม
- ภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 15.0 – 37.5 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 12.1 – 32.1 มคก./ลบ.ม.
- ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 31.9 – 57.2 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ตรวจวัดได้ 17.4 – 34.7 มคก./ลบ.ม.
- ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 12.8 – 26.6 มคก./ลบ.ม.
- กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐาน 28 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 23.7 – 59.4 มคก./ลบ.ม.
ปัจจัยที่ส่งผลต่อฝุ่นละออง
- ด้านอุตุนิยมวิทยา ระหว่าง 8 – 13 ม.ค. 67 มวลอากาศเย็นที่ปกคลุมจะมีกำลังอ่อนลง ลมอ่อน ทิศทางลมแปรปรวน อากาศร้อนตอนกลางวัน
- จุดความร้อนสะสม ณ วันที่ 5 ม.ค. 2567 พบจุดความร้อนทั้งสิ้น 166 จุด แบ่งเป็น นาข้าว 30% ไร่อ้อย 16% ไร่ข้าวโพด 6% และพื้นที่อื่นๆ 48% โดย 3 จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดได้แก่ ลพบุรี ชลบุรี และนครสวรรค์
แนวโน้มสถานการณ์ 7 วันล่วงหน้า
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือแนวโน้มสถานการณ์ต้องเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 6 -12 ม.ค. 67 สำหรับพื้นที่ภาคใต้แนวโน้มดีอย่างต่อเนื่อง
คำแนะนำทางสุขภาพ
- ประชาชนทั่วไป : ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง
- ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์
- สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์
โดยท่านสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK
ที่มา กรมควบคุมมลพิษ , ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ