ไอบูโพรเฟน-ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs กับ 5 ข้อควรระวัง อาจเสี่ยงอันตรายต่อไต

Home » ไอบูโพรเฟน-ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs กับ 5 ข้อควรระวัง อาจเสี่ยงอันตรายต่อไต
ไอบูโพรเฟน-ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs กับ 5 ข้อควรระวัง อาจเสี่ยงอันตรายต่อไต

อย. เตือน หากกินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ไม่ถูกวิธี อาจเสี่ยงโรคที่เกี่ยวกับไตได้

ยาแก้ปวดที่เรากินกันอยู่ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ยาพาราเซตามอล ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ NSAID (Non-Sterodical Anti-Inflammatory Drugs) ยาแก้ปวดกลุ่ม COX–2 Inhibitor และ ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (กลุ่มอนุพันธ์ของฝิ่นและมอร์ฟีน)

ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-inflammatory Drugs หรือ NSAIDs) มีฤทธิ์แก้ปวด ต้านการอักเสบ และลดไข้ ยากลุ่มนี้ เป็น “ยาอันตราย” ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกร 

ตัวอย่างยาที่เห็นกันบ่อยๆ เช่น 

  • แอสไพริน (Aspirin)
  • ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • ไดโคลฟีแน็ก (Diclofenac)
  • นาพร็อกเซน (Naproxen)
  • เซเลค็อกสิบ (Celecoxib)
  • ไพร็อกซิแคม (Piroxicam)
  • เมล็อกซิแคม (Meloxicam)
  • เอทอริค็อกสิบ (Etoricoxib)

เป็นต้น

ข้อควรระวังในการกินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs

การกินยาในกลุ่มนี้แนะนำให้กินหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ เนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร        

กินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs มากเกินไป ส่งผลต่อไต

หากใช้ยาในกลุ่มนี้มากเกินไป จะส่งผลให้การไหลเวียนเลือดภายในไตลดลง อาจทำให้เกิดภาวะไตเสียหายเฉียบพลันได้ และยาในกลุ่มนี้ยังทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การใช้ยาในระยะยาวจึงนำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรังได้

5 ข้อควรระวัง กินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs อาจเกิดอันตรายต่อไต

การเกิดอันตรายต่อไตเมื่อกินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ขึ้นอยู่กับ

  1. ขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา ไม่ควรใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ ควรใช้ยาในขนาดต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษา และใช้เป็นเวลาสั้นที่สุดตามความจำเป็น
  2. ผู้สูงอายุและทารกแรกคลอดมีความเสี่ยงสูง
  3. ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคเบาหวาน โรคอ้วน
  4. ผู้ที่อยู่ในภาวะเสียเลือดมากหรือเสียน้ำมาก 
  5. การใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต

ดังนั้น การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น และหากมีโรคประจำตัวควรแจ้งให้เภสัชกรทราบก่อนซื้อยาทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอันตรายได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ