วิธีสังเกตความแตกต่างของ โรคไข้เลือดออก และไข้หวัดใหญ่ เพราะถึงจะมีอาการบางอย่างคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นคนละโรคกันอย่างสิ้นเชิง
โรคไข้เลือด
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue) ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง ของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยแจ้งว่าในปี 2557 พบผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกประมาณ 40,000 ราย เสียชีวิต 41 ราย นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
เจ้าเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) มี 4 ชนิด คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 ทั้ง 4 ชนิดนี้ มี antigen ร่วมบางชนิด จึงทำให้มี cross reaction และ cross protection ได้ในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นตลอดไป (long lasting homotypic immunity) และจะมีภูมิคุ้มกัน cross protection ต่อชนิดอื่น (heterotypic immunity) ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 3-12 เดือน ฟังดูเหมือนจะดี แต่พอนานวันเข้าภูมิคุ้มกันนี้ก็จะค่อยๆ จางลงเพราะร่างกายเราก็จะผลิตภูมิคุ้มกันตัวจริงออกมาไล่บี้ของแปลกปลอม ถ้าคนที่มีภูมิคุ้มกันจางๆ ปลอมๆ นี้อยู่ในตัว (คนที่เคยเป็นไข้เลือดออก) ได้รับไวรัสเดงกีตัวอื่นเข้าไปนอกจากมันจะไม่สามารถช่วยป้องกันอะไรได้แล้ว มันยังกลายพันธุ์ลุกขึ้นมาชักศึกเข้าบ้านได้อย่างง่ายดาย แถมช่วยให้เจริญเติบโตได้เร็วกว่าปกติอีกนะคะ นี่คือเหตุผลที่ทำคนที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว กลับมาเป็นได้อีกและแถมหนักกว่าเดิมด้วย
อาการไข้เลือดออก
อาการโดยรวมซึ่งคนไข้จะมีมีไข้สูง ปวดกระบอกตา อ่อนเพลีย ไม่อยากรับประทานอาหาร ปวดท้อง หน้าแดง หรือมีผื่นขึ้นตามตัวและปวดตามข้อต่างๆ บางกรณีปวดแบบรุนแรงถึงเสียชีวิตได้เลยนะคะ บางที่ก็เรียกว่า “break bone fever” เลยทีเดียว อันนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อ dengue ที่โดนนะคะ
ดูกันให้ชัดๆ ไปเลยว่าอาการพัฒนาเป็นขั้นตอนอย่างไร โรคไข้เลือดออกเดงกี มีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้
- ไข้สูงลอย 2-7 วัน โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหลหรืออาการไอ เบื่ออาหาร และอาเจียน
- มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง โดยอาจพบผื่นขึ้นตามผิวหนัง หรือมีอาการเลือดออกที่ผิวหนัง รวมถึงมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ
- มีตับโต กดเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำตับ โต ได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ ตับจะนุ่มและกดเจ็บ
- มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี จะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเลวลง และจะเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก
สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำสำหรับไข้เลือดออก
- เมื่อมีอาการไข้สูงห้ามรับประทานยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน และ ไอบูโพรเฟน หรือยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอย เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น
- ถ้าอาการไข้ไม่ลดในช่วง 2-3 วันแรกที่ไม่สบาย รีบปรึกษาหมอด่วน อธิบายอาการให้ครบถ้วน และอธิบายสภาพแวดล้อมที่บ้านด้วยนะคะ รวมถึงปรีกษาหมอว่าควรตรวจเกล็ดเลือดหรือไม่ โดยปกติคนเรามีเกล็ดเลือดนับแสน คือ มากกว่า 300,000 ถ้าเกล็ดเลือดต่ำกว่า 200,000 หลังเป็นไข้มา 3-4 วันแล้วล่ะก็อาการเริ่มน่าเป็นห่วงแล้ว และถ้าต่ำกว่า 100,000 ควร admit อยู่โรงพยาบาลดีกว่าค่ะ ในช่วงที่เริ่มเป็น 1-3 วันแรกอาจยังไม่สามารถตรวจได้นะคะ จะตรวจได้ก็เมื่อไวรัสเริ่มออกตัวค่ะ
ไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอ็นซ่า Influenza virus) โดยสามารถจำแนกออกเป็น 3 ชนิดตามฤดูกาล ได้แก่ ชนิดเอ บี และซี โดยที่พบมากที่สุด คือ ไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ (H1N1) (H3N2) รองลงมาได้แก่ ชนิด บี และซี
เชื้อไวรัสนี้จะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ซึ่งสามารถแพร่ติดต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้ง่าย เช่น การไอหรือจามรดกัน หรือหายใจเอาฝอยละอองเข้าไป หากอยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร บางรายได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก
ในผู้ใหญ่อาจแพร่เชื้อได้นานประมาณ 3-5 วัน นับจากเริ่มป่วย ในเด็กเล็กสามารถแพร่ได้นานกว่าผู้ใหญ่ อาจพบได้ 7-10 วัน และอาจนานขึ้นไปอีก ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง
สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ พบผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ถึงเกือบ 65,000 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 27 ราย ใครจะเชื่อว่าไข้หวัดก็รุนแรงได้ แล้วก็อย่าหวังว่าคนที่เป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกัน
อาการโรคไข้หวัดใหญ่
ถ้าเป็นไข้หวัดอาการไข้จะหายภายใน 2-3 วัน และถ้าเป็นหวัดจริงๆ อาการส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ ระบบหายใจ
อาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ไข้สูง คัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอและรู้สึกเหนื่อย อาการเหล่านี้ตรงแบบเริ่มสองวันหลังได้รับไวรัสและส่วนมากอยู่นานไม่เกินสัปดาห์ แต่อาการไออาจกินเวลานานกว่าสองสัปดาห์ได้
ในเด็กอาการแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่อาจมีปอดบวมจากไวรัส ปอดบวมจากแบคทีเรียตามโพรงอากาศ (sinus) ติดเชื้อ และปัญหาสุขภาพที่มีอยู่เดิมแย่ลง เช่น โรคหอบหืดหรือภาวะหัวใจล้มเหลว
สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำสำหรับไข้หวัดใหญ่
-
ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ ๆ และยังรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์ หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษากันเองที่บ้านได้ ดังนี้
-
นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี ไม่ควรออกกำลังกาย
-
ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ มากๆ งดดื่มน้ำเย็น
-
รักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน หากทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ภายใน 2 วัน ควรรีบพบแพทย์
-
พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น
ความแตกต่างของ โรคไข้เลือดออก และไข้หวัดใหญ่
อาการของ 2 โรคนี้แทบไม่แตกต่างกันมากนัก ขนาด World Health Organization (WHO) ยังบอกเลยว่า 2 โรคนี้แทบจะแยกกันไม่ออกโดยเฉพาะ 2-3 วันแรก มีทั้งปวดหัว ตัวร้อน เจ็บคอ ปวดตามข้อ ที่สำคัญ “ไม่มียารักษา และเป็นแล้วเป็นอีกได้”
ไข้หวัดใหญ่ยังมีวัคซีนป้องกันได้นะคะ แต่ก็ได้แค่ไข้หวัดใหญ่ ถ้าเป็นไวรัสอื่นก็ไม่ได้นะคะ และฉีดป้องกันแล้วไม่แล้วกันนะคะ ต้องฉีดทุกปี โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
ถ้าพูดถึงความเหมือนของอาการเบื้องต้นของทั้ง 2 โรคนี้แล้ว สำหรับผู้ใหญ่บางทีก็ยังบอกไม่ได้เต็มที่เลยใช่ไหมคะว่ามีอาการอย่างไร พอป่วยก็รู้แต่ว่าไม่อยากไปทำงาน แล้วถ้าเป็นเด็กเล็กล่ะคะจะมานั่งอธิบายอะไรได้ คำศัพท์บางคำยังไม่รู้เลย คงโยเยๆ ไปตามเรื่อง คุณพ่อคุณแม่นั่นล่ะค่ะที่ต้องติดตามดูอาการนะคะ
ทีนี้เวลาเป็นไข้ปุ๊บ เฝ้าดูอาการดีๆ นะคะ 2-3 วันอาการไม่ดีขึ้น หาหมออย่างเดียวเลย อย่าชะล่าใจเด็ดขาดนะคะ ไม่งั้นอาจบานปลายได้ ต้องขอบคุณคุณปอ ทฤษฎี สหวงษ์ จริงๆ ที่ทำให้ทุกคนต้องหันมาทำความรู้ความเข้าใจกับโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจัง ขอพรคุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลให้คุณปอหายวันหายคืน กลับมาเป็นขวัญใจของพวกเราต่อไปนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวช
ภาพประกอบจาก istockphoto, pixabay