- จิม ทอมป์สัน เปิดฟาร์มประจำปี 2566 รับลมหนาวปลายปีด้วยคอนเซปต์แห่งความคิดถึง ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอฟาร์มจิม
- ในปีนี้ถือเป็นก้าวแรกของ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม กับการนำเสนอวัฒนธรรมอีสานที่เข้มข้นและลึกซึ้งขึ้น ทั้งเตรียมขยับเข้าสู่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
- ปีนี้เป็นปีแรกอีกเช่นกันสำหรับเวทีหมอลำ ที่มาบรรเลงขับร้องส่งความม่วนทุกคืนวันเสาร์ตลอดช่วงเวลาของการเปิดฟาร์ม
ได้เวลาเปิดฟาร์มแล้ว ปีนี้ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม 2566 (Jim Thompsan Farm) พาความสวยงามของธรรมชาติและความม่วนซื่นของวัฒนธรรมท้องถิ่นมานำเสนอผ่านคอนเซปต์ “ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอฟาร์มจิม” หยิบเนื้อหาจากเพลง “จดหมายรักจากเมียเช่า” แต่งโดย ครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ และขับร้องโดย มาณี มณีวรรณ มาเป็นแรงบันดาลใจ สอดคล้องกันทั้งห้วงอารมณ์แห่งความคิดถึงสมการรอคอยมาตลอดหนึ่งปี และบทเพลงนี้ยังคงสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ช่วงสงครามเย็น ช่วงเวลาสำคัญของวัฒนธรรมอีสานที่ยังคงทิ้งร่องรอยทางวัฒนธรรมหลากหลายด้านเอาไว้จนถึงปัจจุบัน ฉะนั้นกิจกรรมภายในฟาร์มจึงเข้มข้นมากขึ้นกับการนำเสนอความเป็นอีสานผ่านนิทรรศการแต่ยังคงเที่ยวได้สนุก เสมือนการเปิดจดหมายฉบับใหม่เพื่อรู้จักกันในอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งสิ่งนี้ยังเปรียบได้กับก้าวแรกของจิม ทอมป์สัน ฟาร์มที่กำลังขยับไปสู่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้เราอาจได้ปักหมุดไปเยือนฟาร์มจิมกันตลอดทั้งปี
มาถึงที่นี่แล้วต้องไม่พลาดการเช็คอินกับแลนด์สเคปสวยๆ และปลายปีก็เป็นช่วงเวลาที่ ทุ่งดอกไม้ อันเต็มไปด้วยดอกคอสมอสและดาวกระจายกำลังเบ่งบานชูความสดใสอยู่พอดี ขณะเดียวกันฝั่งตรงข้ามเราจะพบกับจุดแรกของ นิทรรศการข้าว Rice is Life ที่ตั้งใจทำให้เห็นถึงกระบวนการหลังฤดูเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นการตาก การตีข้าวหรือการสีข้าวในโรงสีอายุหลักร้อยปีที่ยังใช้งานได้จริง โดยที่ผลผลิตมาจากการปลูกและจำหน่ายภายในฟาร์มนี้เอง
ใครกำลังสงสัยว่าทำไมปีนี้ ผาสาดข้าว หรือ ปราสาทข้าว ถึงยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก่อนเปิดให้เข้าชม นั่นเพราะว่าทางฟาร์มจะค่อยๆ แต่งแต้มปราสาทข้าวไปตลอดช่วงเวลาของการเปิดฟาร์ม เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์สำหรับใครที่อยากเห็นกระบวนการหรืออยากลงมือทำด้วยตัวเอง
สำหรับปราสาทข้าวที่เห็นเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีบุญของสังคมเกษตรกรรมชาวอีสานที่เรียกว่า “บุญกุ้มข้าวใหญ่” ซึ่งจะเกิดขึ้นราวเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม คาบเกี่ยวระหว่างประเพณีบุญคูณลานและบุญข้าวจี่ สำหรับประเพณีบุญคูณลานหรือที่รู้จักกันในชื่อการสู่ขวัญข้าวจะเกิดขึ้นก่อนที่ชาวนาจะนำข้าวเข้าไปเก็บที่ยุ้งฉาง ภาพจำคือการกองข้าวเป็นพูนสูงเพื่อความเป็นสิริมงคล คล้ายกับการอธิษฐานขอให้ผลผลิตพอกพูนขึ้นอีกเรื่อยๆ ในทุกปีเป็นทวีคูณ
ส่วนบุญกุ้มข้าวใหญ่มีนัยคล้ายกัน แต่เป็นประเพณีที่คนในหมู่บ้านมาร่วมกันทำบุญโดยการนำข้าวเปลือกที่ตนมีไปกองรวมกันที่ลานวัดเกิดเป็นกองข้าวเปลือกใหญ่ที่เรียกกันว่ากุ้มข้าว ไม่เท่านั้นยังลงแรงร่วมมือกันทำปราสาทข้าวเพื่อประดับตกแต่งและเฉลิมฉลองด้วยการมัดรวงข้าวเป็นลวดลายต่างๆ ตามแต่ละคนถนัด ซึ่งนอกจากการสักการะพระแม่โพสพ ยังมีอีกหนึ่งความตั้งใจของประเพณีนี้นั่นคือการทำนุบำรุงศาสนาหาทุนทรัพย์ให้กับวัดด้วยผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของแต่ละบ้านนั่นเอง
สังเกตการณ์กันมาสักพักแล้วก็ถึงเวลาของการลงมือ เราขอเริ่มด้วยเวิร์กช็อปชิมข้าว ลิ้มรสชาติ รสสัมผัสและกลิ่นเพื่อทำความรู้จักกับข้าวไทย อาหารจานหลักของไทยที่มีมากถึง 5,928 สายพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ในชีวิตประจำวันของเรากลับไม่ได้เจอความหลากหลายเหล่านั้นกันเท่าไร สิ่งนี้เลยเป็นจุดตั้งต้นของนิทรรศการในการพาไปรู้จักกับข้าวไทยที่มีแตกต่าง ไปจนถึงการต่อยอดในเชิงผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่าง สาโท ชาข้าว เหล้ากลั่นหรือโอกาสส่งเสริมการท่องเที่ยวไปยังถิ่นกำเนิดของข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ที่เราสนใจ
อีกจุดไฮไลต์ หากใครเป็นสายคราฟต์น่าจะเข้าออกเฮือนแต่ละหลังกันอย่างเพลิดเพลิน นั่นคือ หมู่บ้านอีสาน ศูนย์รวมเฮือนหลังคาทรงจั่วใต้ถุนสูงตามแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ซึ่งไม่เพียงแต่รูปแบบของบ้านพักอาศัยที่ตั้งชื่อตามเจ้าของคนสุดท้าย อาทิ เฮือนแตงอ่อน เฮือนอ้อยใจ โดยมักเป็นชื่อของลูกสาว ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนอีสานที่เป็นการแต่งเข้าบ้านฝ่ายหญิง ในโซนเดียวกันยังมีหอแจก (โรงทาน) ตลาดของขาย สิมกลางน้ำหรือศาสนาคาร คล้ายกับหมู่บ้านขนาดย่อมๆ ให้ได้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยที่รูปแบบของสิมกลางน้ำได้จำลองมาจากต้นแบบวัดกลางโคกค้อ ตำบลยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
นอกจากในเรื่องของโครงสร้างและวิถีชีวิต แต่ละเฮือนยังจัดแสดงนิทรรศการและเวิร์กช็อปที่น่าสนใจ สามารถเข้าร่วมได้ฟรีทุกกิจกรรม อาทิ ลำโลก เปิดโลกหมอลำตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงการประยุกต์เกิดเป็นเพลงอีสานสมัยใหม่ ทำให้ทุกคนสามารถสนุกกับการฟังหมอลำมากขึ้น ใครอยากเปิดฟลอร์สามารถจองบัตรวันเสาร์เพื่ออยู่ม่วนจอยกับวงดนตรีอีสานสมัยใหม่ที่หน้าเวทีหมอลำยามค่ำคืนต่อได้เลย ส่วนหากใครอยากเข้าใจถึงวิถีชีวิตระหว่างชาวอีสานและอเมริกันว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร ที่นี่ก็มี นิทรรศการอเมริกัน-อีสาน บอกเล่าการเข้ามาตั้งค่ายในแถบอีสานของชาวทหารอเมริกันในช่วงสงครามเย็นอยู่ด้วย
ภายในโซนเดียวกันทุกคนยังสามารถเต็มอิ่มกับเวิร์กช็อปศิลปะ เพื่อผ่อนจังหวะช้าๆ ไปกับการวาดโปสการ์ดจากสีธรรมชาติ ร้อยลูกปัด ปั้นดิน สาวเส้นไหมหรือเรียนรู้การทอผ้าไหมฉบับจิม ทอมป์สัน คลอไปกับเสียงเพลงฟังสบายสไตล์คันทรีโฟล์ค เต็มอิ่มกับกิจกรรมกันได้ตลอดทั้งวัน ไหนๆ ก็ได้ข่าวว่าลมหนาวจะพัดมาอีกครั้ง อย่าลืมอปักหมุดไปรับอากาศดีๆ ที่จิม ทอมป์สัน ฟาร์มกัน
Fact File
- จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เปิดท่องเที่ยวประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567
- ซื้อบัตรเข้าชมได้ทาง : www.ticketmelon.com/jimthompsonfarm/farmtour2023
- รายละเอียดเพิ่มเติม : www.facebook.com/JimThompsonFarmTour