เปิดทำความรู้จัก องคมนตรี คืออะไร และมีบทบาทหน้าที่สำคัญอย่างไรบ้าง หลัง พลเอกประยุทธ์ เพิ่งได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งเมื่อวานนี้
วันที่ 30 พฤสจิกายน 2566 มีรายงานว่า เมื่อวันที่ (29 พ.ย. 66) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้งองคมนตรี ระบุข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม” ให้ประกาศว่า ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งองคมนตรีตามประกาศ ลงวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2565 แล้วนั้น บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น องคมนตรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

องคมนตรี คืออะไร
คณะองคมนตรี เป็นคณะที่ปรึกษาที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ไทย องคมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด จะต้องมีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 18 คน ประธานองคมนตรีคนปัจจุบันคือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 24 อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและอดีตผู้บัญชาการทหารบก ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยพระมหากษัตริย์มีพระราชวินิจฉัยในการแต่งตั้งสมาชิกองคมนตรีทั้งหมด สำนักงานองคมนตรีอยู่ที่ทำเนียบองคมนตรี เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- กระทรวงยุติธรรม โร่แจง ย้ายอธิบดี DSI ครั้งนี้เกี่ยวกับ หมูเถื่อน หรือไม่?
- ขั้นตอนการลงทะเบียนแก้ไขหนี้นอกระบบ ด้วยแอปฯ ThaID เริ่ม 1 ธ.ค. 66
- เคาะแล้ว! ขึ้นค่าไฟ เกือบ 5 บาทต่อหน่วย เริ่มบิลรอบ ม.ค. 67 เป็นต้นไป
ประวัติ องคมนตรี
คำว่า “องคมนตรี” ในภาษาไทย เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of state) จำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 (ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2437 ได้ยกเลิกไปและจัดตั้ง รัฐมนตรีสภา ขึ้นแทน) และปรีวีเคาน์ซิล (Privy council) หรือ ที่ปฤกษาในพระองค์ จำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น องคมนตรีสภา)
-ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งองคมนตรี จำนวน 40 คน ตั้งเป็น สภากรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี ขึ้นใหม่ทุกปีในวันที่ 4 เมษายน เนื่องในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เมื่อสิ้นรัชสมัยจึงมีองคมนตรีมากถึง 233 คน
-ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็น 3 องค์กร คือ อภิรัฐมนตรีสภา เสนาบดีสภา และสภากรรมการองคมนตรี โดยอภิรัฐมนตรีสภาก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เทียบเท่าได้กับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จำนวน 5 พระองค์ ซึ่งทรงเคยรับราชการตำแหน่งสำคัญในรัชกาลที่ 5
-เมื่อมีการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ในระยะแรกคณะราษฎรได้มีประกาศยกเลิกอภิรัฐมนตรีสภา และพระราชบัญญัติองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 และว่างเว้นมาเป็นเวลา 15 ปี จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 จึงมีบทบัญญัติคล้ายคลึงกันโดยกำหนดให้มี “คณะอภิรัฐมนตรี” ทำหน้าที่นี้ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะองคมนตรี” ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 และใช้มาตราบจนถึงปัจจุบัน

บทบาทและหน้าที่ขององคมนตรี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุว่าเป็นคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คนมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา รวมทั้งปฏิบัติภารกิจตามที่พระมหากษัตริย์ทรงกำหนดหรือทรงมอบหมาย การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรี หรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรี หรือให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
องคมนตรีเป็นข้าราชการในพระองค์ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ข้าราชการในพระองค์ตำแหน่งอื่นนอกจากองคมนตรี พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง
คณะองคมนตรี จะทำการประชุมทุกสัปดาห์ ณ ทำเนียบองคมนตรี บริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์ ใกล้พระบรมมหาราชวัง ด้านถนนสนามไชย โดยมีสำนักงานองคมนตรี ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ คอยสนับสนุนภารกิจขององคมนตรีในการปฏิบัติหน้าที่ถวายพระมหากษัตริย์ และการอื่นตามพระราชอัธยาศัย