ปวดศีรษะ มีหลายแบบ แต่แบบที่หลายคนรู้สึกทรมานเพราะหายยากกว่า คือปวดไมเกรน หากสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคได้ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่จะทรมานต่อโรคนี้ได้
สาเหตุของไมเกรน
ผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า สาเหตุของไมเกรน มาจากพันธุกรรม และมาจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ โดยผู้ป่วยไมเกรนจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้การรับรู้สึกถึงระบบประสาทเกิดความเปลี่ยนแปลงไวกว่าคนปกติ (Hypersensitivity) จึงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง หรือปวดศีรษะง่ายกว่าคนปกติ
>> ทำไม “ไมเกรน” ถึงเป็นโรคยอดฮิต ภัยเงียบที่ทำลายชีวิตของ “วัยทำงาน”
สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการโรคไมเกรน
รศ. ดร. นพ. ธนินท์ อัศววิเชียรจินดา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ปัจจัย หรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะของโรคไมเกรน อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ทั้งจากสภาวะแวดล้อม อาหาร หรือตัวบุคคลเอง เช่น
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อยเกินไป
- ความเครียดสะสมจากหน้าที่การงาน การเรียน ครอบครัว ความรัก การเงิน เรื่องส่วนตัวต่าง ๆ
- อาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน หรือเล่นกีฬา
- อาหารบางประเภท เช่น เนย ช็อกโกแลต ถั่ว อาหารหมักดอง
- การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
- เครื่องที่มีแอลกอฮอล์
- การอยู่ในที่แสงจ้ามากเกินไป
- สถานที่ที่มีเสียงดัง เสียงอึกทึก
ไมเกรน โรคปวดหัวที่ไม่หายขาด
แม้ว่าการรักษาโรคไมเกรนจะไม่หายขาด ต้องคอยลด และระมัดระวังสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นอยู่ตลอด แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเอง เพื่อบรรเทาอาการปวด และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
ทั้งนี้ หากอาการปวดศีรษะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยา หรือทำการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อไป