11 วิธีป้องกัน "สมองเสื่อม" ในผู้สูงอายุ

Home » 11 วิธีป้องกัน "สมองเสื่อม" ในผู้สูงอายุ
11 วิธีป้องกัน "สมองเสื่อม" ในผู้สูงอายุ

ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ หากพบความผิดปกติต้องรีบมาพบแพทย์ บางส่วนสามารถแก้ไข และจำนวนมากชะลอโรคได้ถ้าพบระยะแรก พร้อมแนะ 11 วิธีป้องกันไม่ให้สมองเสื่อม


สมองเสื่อม คืออะไร?

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการสมองเสื่อมคือภาวะที่มีการสูญเสียความสามารถทางสมอง เช่น ความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การใช้ภาษา ทิศทาง การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพ โดยมีผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม และสมองเสื่อมเป็นภาวะที่อยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นตามภาวะสังคมสูงวัย

ในอดีตเรามักเชื่อกันว่าอาการหลงลืมเป็นเรื่องปกติของคนสูงอายุเป็นการหลงลืมตามวัย แต่ความเชื่อดังกล่าวไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด ยังมีผู้สูงอายุส่วนหนึ่งที่มีอาการสมองเสื่อม หากญาติหรือคนใกล้ชิดให้ความสำคัญในการสังเกตความผิดปกติและรีบนำมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย บางส่วนสามารถแก้ไขได้และจำนวนมากชะลอโรคได้ถ้าพบในระยะแรก

สาเหตุของโรคสมองเสื่อม

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุของโรคสมองเสื่อมเกิดจากหลายปัจจัยที่สำคัญ เช่น การเสื่อมของเซลล์สมอง ขาดวิตามินบี 1 หรือบี 12 ติดเชื้อในสมอง การแปรปรวนของระบบเมตาโบลิกในร่างกาย เนื้องอกในสมอง เป็นต้น ซึ่งชนิดของโรคสมองเสื่อมที่พบมากที่สุดคือ อัลไซเมอร์ และโรคหลอดเลือดสมอง

11 วิธีป้องกัน “สมองเสื่อม” ในผู้สูงอายุ

แม้สาเหตุบางอย่างของภาวะสมองเสื่อมจะยังไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด เช่น สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ที่เกิดจากพันธุกรรม แต่พบว่าการป้องกันสามารถลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ได้แก่

  1. เลือกอาหารที่เหมาะสม รับประทานให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
  2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์
  4. หลีกเลี่ยงกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง
  5. ไม่สูบบุหรี่ หรืออยู่ในที่ๆมีควันบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า
  6. พยายามฝึกสมองให้คิดบ่อยๆ เช่น อ่านและเขียนหนังสือบ่อยๆ เล่นเกมส์ตอบปัญหา นับเลขถอยหลัง
  7. หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
  8. พบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อยๆ หากิจกรรมเพื่อคลายเครียด เช่น เข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นจิตอาสาในโรงพยาบาล
  9. ตรวจสุขภาพประจำปี
  10. ถ้ามีโรคประจำตัวต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ นอกจากรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์แล้วต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมอาการของโรคร่วมด้วย โดยเฉพาะโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
  11. ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง โดยเฉพาะการหกล้ม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ