วัคซีน “มะเร็งปากมดลูก” กับเหตุผลที่ “ผู้ชาย” ควรฉีด

Home » วัคซีน “มะเร็งปากมดลูก” กับเหตุผลที่ “ผู้ชาย” ควรฉีด
วัคซีน “มะเร็งปากมดลูก” กับเหตุผลที่ “ผู้ชาย” ควรฉีด

รู้หรือไม่ว่า ผู้ชายก็ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ และมีหลายเหตุผลที่ควรฉีดด้วย เพราะไวรัสมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง ก็สามารถพบได้ในผู้ชายได้เช่นกัน

มะเร็งปากมดลูก อันตรายในผู้หญิงที่พบได้ในผู้ชายด้วยเช่นกัน

มะเร็งปากมดลูก พบได้บ่อยสำหรับมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี และเป็นมะเร็งที่แพทย์มีการศึกษาถึงสาเหตุของมะเร็งที่อวัยวะนี้ พบว่ามีสตรีชาวไทยเสียชีวิตจากมะเร็งของปากมดลูกเฉลี่ยแล้วประมาณวันละ 10 คน เชื้อไวรัสที่เรียกว่า HPV (Human Papilloma Virus) เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โดยการติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธ์เสี่ยงสูง จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือมีเพศสัมพันธ์ที่มีคู่หลายคนๆ และอาจมีการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม พญ.สมรรจน์ ลิ้มมหาคุณ แพทย์สาขาอายุรศาสตร์ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมา มีรายงานจากศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เผยยอดชายรักชาย ที่ติดเชื้อไวรัส HIV หรือไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ โดยมีการตรวจพบเชื้อไวรัสมะเร็งปากมดลูก (HPV) ร่วมด้วยถึง 85% ซึ่งเชื้อ HPV ในเพศชายนี้สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในช่องปากและลำคอ มะเร็งองคชาต รวมถึงมะเร็งปากทวารหนัก สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ชนิดเดียวกับที่มะเร็งปากมดลูกได้ในผู้หญิงนั่นเอง

ผู้ชายติดเชื้อไวรัส HPV ได้อย่างไร?

พญ.สมรรจน์ ระบุว่า ไวรัส HPV มักจะพบจากการมีเพศสัมพันธ์ (ทางปาก ช่องคลอด ทวารหนัก) รวมทั้งการสัมผัสเชื้อโดยตรง 

ทำไมผู้ชายควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก?

ในปัจจุบันไวรัส HPV มีมากกว่า 150 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ 6 และ 11 เป็นตัวก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ ส่วนสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง จุดกำเนิดเริ่มต้นของเพศที่แพร่เชื้อนั้น จึงพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ดังนั้นการรณรงค์ให้หญิงเป็นฝ่ายวิ่งหาวัคซีนป้องกันแต่เพียงเพศเดียวอาจดูไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก 

เพศชายที่มีความเสี่ยง เช่น มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ หรือชอบการร่วมเพศทางทวารหนัก จึงควรตรวจหาเชื้อ HPV ในร่างกายเพื่อรีบหาทางรักษาก่อนที่จะเป็นโรคร้าย หรือฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อ HPV ในอนาคต

อาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง 

ผศ.พญ.ดวงมณี ธนัพประภัศร์ ศัลยแพทย์มะเร็งสูตินรีเวช โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ให้รายละเอียดว่า ปัญหาที่สำคัญของผู้ที่ติดเชื้อ HPV คือ ไม่มีอาการแสดง ดังนั้นจะไม่รู้ตัวและสามารถกระจายเชื้อไวรัสไปสู่คนอื่นๆ ได้ และอาการแสดงของมะเร็งปากมดลูก ระยะก่อนมะเร็ง หรือระยะเริ่มต้นของโรคนี้ จะไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติ แต่ยกเว้นถ้าระยะของโรคมะเร็งเป็นมากพอสมควร อาจมีอาการประจำเดือนผิดปกติ  เลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปกติ (Abnormal vaginal bleeding) การมีระดูขาวที่ผิดปกติมีกลิ่นเหม็น หากกระจายไปยังอวัยวะอื่น อาจมีอาการปวดท้อง ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือดได้ ดังที่กล่าวมาแล้วว่าระยะก่อนมะเร็ง หรือมะเร็งที่เพิ่งเริ่มเป็นอาจจะไม่มีอาการและการรักษาทำได้ มีโอกาสที่จะหายขาดได้   

วิธีตรวจหามะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง

วิธีที่จะทราบได้คือ การมารับการตรวจภายใน เพื่อเอาเซลล์จากปากมดลูกมาตรวจที่เรียกกันว่า ตรวจแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear) และถ้าตรวจร่วมกับการหาเชื้อไวรัส HPV(HPV DNA Test) จะทำให้ได้รับความชัดเจนเพิ่มขึ้น หากผลผิดปกติต้องตรวจด้วยการส่องกล้องขยายดูปากมดลูก (Colposcopic examination) เพื่อค้นหาบริเวณที่ผิดปกติ และจะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy) เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติ วางแผนการตรวจเพื่อบอกระยะของโรคและวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง 

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

สำหรับการรักษาระยะเริ่มต้นอาจจะรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย (Therapeutic conization) การตัดมดลูกพร้อมๆ กับเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองออก (Radical hysterectomy with pelvic lymphadenectomy) ผู้ป่วยบางรายต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ด้วยรังสีรักษา การฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสี (Teletherapy) และการใส่แร่ (Brachy-therapy) บางรายพิจารณารักษาร่วมกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Concurrent Chemo-Radiation treatment) การรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเดียวใช้ในกรณีที่มะเร็งกระจายไปมากพอควร ซึ่งไม่สามารถให้รังสีรักษาหรือทำการผ่าตัดได้

เชื้อไวรัส HPV สามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง การได้รับวัคซีนตั้งแต่อายุ 9-26 ปี มีประโยชน์ในการป้องกันและลดอัตราการแพร่เชื้อไวรัสนี้ได้ 90-100%

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ