ด้วยอายุที่มากขึ้น และอาจจะด้วยการขาดความเอาใจใส่ในสุขภาพดวงตาของหนุ่มสาวสมัยนี้ ทำให้ในเมืองไทยพบผู้ป่วยโรค “ต้อหิน” มากขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะอายุน้อยลงเรื่อยๆ เสียด้วย ซ้ำร้าย กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่ากำลังเป็นโรคต้อหิน อาจจะสายเกินแก้ ต้องสูญเสียการมองเห็นไปชั่วชีวิต เพราะ 9 ใน 10 ไม่มีอาการบ่งบอก ดวงตาถูกทำลายไปกว่า 50% จนกลายเป็นตาบอดถาวร
เพราะฉะนั้น Sanook! Health จึงขอนำข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย มาให้เพื่อนๆ ได้ตรวจเช็คสุขภาพดวงตา ตรวจหาอาการของโรคต้อหินได้ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ กันค่ะ
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนเนอะ ว่าใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษบ้าง
กลุ่มเสี่ยงโรคต้อหิน
- วัยกลางคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- พบประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคต้อหิน
- เป็นคนที่มีสายตายาวมาก หรือสั้นมากๆ
- เคยใช้ยาประเภทสเตียรอยด์เป็นระยะเวลาหนึ่ง
- เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบเลือด เส้นเลือด หรือโรคเบาหวาน
3 วิธีง่ายๆ เช็ค “ต้อหิน”
- เช็คความคมชัดของสายตาตัวเอง โดยการปิดตา แล้วมองไปที่วัตถุใดวัตถุหนึ่ง เช่น ป้ายที่มีตัวอักษร โดยปิดตามองทีละข้าง
- สังเกตภาพจากด้านข้างก่อน ว่ามีความคมชัดเท่ากับภาพตรงกลางหรือไม่ เพราะปกติการสูญเสียการมองเห็นมักเริ่มจากด้านข้างก่อน
- หากเป็นอาการต้อหินปกติ อาการจะค่อยๆ เป็นอย่างช้าๆ จนผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตถึงความผิดปกติของสายตาตัวเอง แต่หากเป็นต้อหินเฉียบพลัน จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดตาอย่างรุนแรง และเฉียบพลัน ตาแดง น้ำตาไหล ดวงตาสู้แสงไม่ได้ ตามัว เห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ และคลื่นไส้อาเจียนได้
วิธีรักษาโรคต้อหิน
– รักษาด้วยยา หยอดตาเพื่อลดความดันในดวงตาให้อยู่ในสภาพปกติ สร้างน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตา และช่วยให้การไหลเวียนออกของน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตาดีขึ้น
– ใช้เลเซอร์ ตามแต่ละประเภทของโรคต้อหินที่พบ
– การผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้วิธีเลเซอร์ได้
หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบจักษุแพทย์ แต่ถ้าจะให้ดี ควรตรวจสุขภาพตากับแพทย์ทุกๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อป้องกันโรคต้อหิน ก่อนที่จะทำลายประสาทตาจนสูญเสียการมองเห็นถาวรค่ะ