อาการแบบนี้ "ไวรัส" หรือ "แบคทีเรีย"

Home » อาการแบบนี้ "ไวรัส" หรือ "แบคทีเรีย"
อาการแบบนี้ "ไวรัส" หรือ "แบคทีเรีย"

เมื่อเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนฤดูในทุกครั้ง สภาพอากาศรอบตัวเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากร้อนเป็นฝน จากฝนเป็นหนาว และจากหนาวเป็นร้อน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ ป่วยเป็นไข้หวัดกันได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง ยิ่งจะป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่าย เมื่อมีอาการหวัดคนส่วนใหญ่ก็มักจะเข้าใจผิดว่าจะต้องรับประทานยาแก้อักเสบทุกครั้งไป

แต่จริง ๆ แล้วการใช้ยาแก้อักเสบเพื่อรักษาหวัดนั้นจำเป็นเฉพาะในกรณีที่เป็นหวัดและมีการอักเสบเท่านั้น แล้วไข้หวัดแบบไหนกันที่จำเป็นและไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้อักเสบ ?
คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมกินยาเท่าไรโรคก็ไม่หาย เมื่อยาปฏิชีวนะที่กินเข้าไปกลับ ทำร้าย ร่างกาย นั่นอาจเป็นเพราะคุณกำลังมี เชื้อดื้อยา

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เล่าให้เราฟังว่า ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เชื้อดื้อยายังไม่ดีขึ้น ไม่ได้เป็นแค่ ของไทยอย่างเดียว ทั่วโลกก็จะเป็น ปัญหาเดียวกัน ซึ่งจะประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ทั้งความตระหนัก ความเข้าใจของบุคลากรสุขภาพก็อาจจะยังมีส่วนอยู่ โดยเฉพาะอาหารหรือสิ่งแวดล้อม ประชาชนจะได้รับ โอกาสที่จะได้รับรู้ว่าเกิดมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือไม่ค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นเราจึงย้ำเน้นว่าการบูรณาการเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเกิดขึ้น

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เนื่องจากคนไทยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเชื้อดื้อยาเท่าที่ควร ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการดื้อยา ซึ่งในปัจจุบันเป็นปัญหาที่สำคัญ สสส.ได้ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กพย. ผลักดันให้ประชาชนตระหนักรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาทั้งในระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ ในปีนี้ สสส.และเครือข่ายจึงพร้อมใจกันประกาศเจตนารมณ์ต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยา เพื่อสร้างความตระหนักและความตื่นตัวในหมู่ประชาชนให้ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล   

วิธีการวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยตัวเองว่าอาการป่วยที่เราเป็นอยู่นั้นเกิดจากเชื้อไวรัส หรือ แบคทีเรียกันแน่

เกิดจากไวรัส อาการส่วนใหญ่มักมีน้ำมูก ไอ อาจมีอาการระคายคอ หรือเจ็บคอ หรือเสียงแหบร่วมด้วย

วิธีการรักษา หวัด เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถหายได้เองจากการพักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำมาก ๆ อาจใช้เวลา 5 – 7 วัน อาการจะดีขึ้นเอง แนะนำให้กลั้วคอด้วoน้ำเกลือเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา

เกิดจากแบคทีเรีย ต้องมีอาการ 3 ใน 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. ต่อมทอนซิลบวม หรือ มีจุดหนอง
  2. ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรหน้าบวมโต กดเจ็บ
  3. มีไข้ (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส)
  4. ไม่มีอาการไอ

วิธีการรักษา ปรึกษาเภสัชกร หรือไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่

วิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง

  1. ยาปฏิชีวนะแต่ละชนิด ต้องกินต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียได้หมด ซึ่งระยะเวลาที่ต้องใช้ยาต่อเนื่องกันอาจแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของยา
  2. การรับประทานยาปฏิชีวนะบางชนิด ข้อควรระวังการใช้พิเศษ เช่น บางชนิดต้องรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 15 – 30 นาที บางชนิดไม่ควรรับประทานร่วมกับนมหรือยาลดกรด เนื่องจากจะทำให้เกิดการรบกวนการดูดซึมตัวยาได้ อ่านฉลากก่อนใช้ยา


ผลกระทบจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม

  1. การได้รับยาปฏิชีวนะในแต่ละครั้ง สร้างโอกาสให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในร่างกาย เพราะยาปฏิชีวนะที่กินเข้าไปสามารถกำจัดแบคทีเรียได้ทั้งแบคทีเรียที่มีประโยชน์และมีโทษ แบคทีเรียที่รอดชีวิตจึงสร้างตัวเองให้กลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา การได้รับยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็นหรือขนาดไม่เหมาะสมอย่างพร่ำเพรื่อจะทำให้เกิด ซูเปอร์บั๊ก หรือ แบคทีเรียดื้อยาที่ไม่มียารักษา
  2. เพิ่มโอกาสเกิดการแพ้ยา พบว่ามีผู้ป่วยที่แพ้ยาปฏิชีวนะจนมีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตได้
  3. การได้ยาปฏิชีวนะบ่อยครั้งในทารก และเด็กเล็กเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคอ้วนและน้ำหนักเกิน


การดูแลสุขภาพเบื้องต้นและการป้องกัน

  1. ดื่มน้ำเยอะ ๆ
  2. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
  3. ล้างจมูก
  4. พักผ่อนให้เพียงพอ
  5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  6. กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
  7. ใส่หน้ากากอนามัย

ในด้านของการรณรงค์ การป้องกันนั้น ผศ.นพ.กำธร  มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้บอกกับเราว่า จะต้องให้ประชาชนมีการตระหนักรู้ เมื่อตระหนักรู้ก็จะเป็นแรงผลักดัน เพราะพอเวลาเภสัชกร หรือแพทย์จะจ่ายยาให้ประชาชน เมื่อเจอคำถามที่ว่าเป็นไวรัสหรือแบคทีเรีย ก็จะคิดตามว่าเอ๊ะจะจ่ายยาดีไหม ในขณะเดียวกันเราต้องไปรณรงค์ในภาควิชาชีพด้วย อันนี้เราก็ทำอยู่ จะมีเภสัชกร แพทย์จำนวนไม่น้อยเลยที่ขณะนี้เริ่มตระหนัก มีคนตื่นตัวมากขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่เราคิดว่าเราต้องทำงานอีกเยอะ ทั้งนี้ความตื่นตัวของแพทย์ เภสัชกร และก็กฎหมายด้วยให้มีกฎระเบียบการควบคุม การจำหน่ายยาปฏิชีวนะโดยอิสระต้องมาพิจารณากันใหม่ว่าเอ๊ะจะจำกัดขอบเขตอย่างไรเพื่อให้ไม่มีการใช้แบบพร่ำเพรื่อเกินไป ในขณะที่ไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชน

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผลเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำมาซึ่งปัญหาเชื้อดื้อยาที่ภาวะรุนแรงส่งผลกระทบต่อชีวิต ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ และเพิ่มความเสี่ยงจากอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาปฏิชีวนะ  เชื้อดื้อยาเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพที่สำคัญของประเทศ แก้ไขปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล จำเป็นที่ต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง และใช้หลากหลายมาตรการ/กลวิธี ต้อง ได้รับความร่วมกันจากทุกภาคส่วน  นำมาสู่การแก้ไข ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผล เพื่อเกิดการใช้ยาที่คุ้มค่า และปลอดภัย เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ดังที่ขององค์การอนามัยโลกนิยามว่า คือ “การใช้ยาที่ผู้ป่วย ได้รับยาที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วย ในขนาดยาที่เหมาะสมกับสภาวะ การทำงานของร่างกาย โดยได้รับยาเป็นระยะเวลาที่เพียงพอเหมาะสม และมีค่าใช้จ่ายต่อตัวผู้ป่วยและ ชุมชนน้อยที่สุด”

ดังนั้น ยาปฏิชีวนะ จำเป็นต้องกินตามแพทย์สั่ง เฉพาะเจ็บป่วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และภาคีเครือข่าย เสริมความความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนรู้จักวิธีดูแลตนเองในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ