โครงการที่จอดเรือพัทยา” ผ่านมากว่า 15 ปี ใช้งบสร้าง 300 กว่าล้านไม่เคยใช้ประโยชน์ สุดท้ายพังเหลือแต่ซาก ทิ้งเศษวัสดุเกลื่อนเมืองประจานความน่าอดสูของการใช้งบประมาณแผ่นดิน เมืองพัทยายังดิ้นต่อฟ้องอุทรณ์ศาลปกครองสูงสุดเอาผิดผู้ออกแบบโครงการ หลังศาลปกครองกลางพิพากษาแล้วไม่ใช่ความผิดผู้ออกแบบเมืองพัทยาต้องรับผิดชอบ
จากกรณีที่เมืองพัทยาได้ว่าจ้างให้ บ.เทสโก้ เข้ามาศึกษาออกแบบก่อนจะว่าจ้างกิจการร่วมค้า Ping เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโครงการที่จอดเรือแหลมบาลีฮาย ตั้งแต่ปี 2551 ในงบประมาณ 300 กว่าล้านบาท เพื่อรองรับการจอดเรือท่องเที่ยวจำนวนกว่า 300 ลำ ซึ่งโครงการดังกล่าวถือเป็นหนึ่งโครงการในแผนการจัด สร้างอาคารที่จอดรถ-จอดเรือ มูลค่ารวมกว่า 733 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้มีการส่งมอบงานไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2556 แต่ปรากฏว่าหลังเวลาผ่านไปนานนับปีก็ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้จริง
ทั้งนี้ด้วยโครงการดังกล่าวที่ไม่สามารถเปิดใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปล่อยให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งมาจากกรณีที่ผู้ประกอบการกลุ่มเรือสปีดโบ๊ตกว่า 1,000 ลำ ที่ได้แจ้งไปก่อนหน้านี้แล้วว่าระบบไฮดรอลิกของโครงการนี้คงไม่สามารถรองรับและใช้งานจอดเรือได้จริง โดยเมืองพัทยาควรจะมาการศึกษาและสอบถามความคิดเห็นก่อนออกแบบและลงมาจัดสร้างโครงการ ทำให้สุดท้ายแล้วเมื่อมีการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ก็ไม่สามารรถใช้งาน ขณะที่ปัญหาอื่นๆยังมีเรื่องของการเคลื่อนไหวของตะกอนทรายใต้น้ำ และสุดท้ายกับปัญหาสำคัญที่นำมากล่าวอ้างว่าที่โครงการไม่สามารถเปิดใช้งานเพราะรับผลกระ ทบอย่างหนักจากปัญหาปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติคือ “พายุหว่ามก๋อ” ที่สร้างความเสียหายต่อโครงการอย่างหนักในปี 2558 ส่งผลให้โครงการพังเสียหาย ชำรุดไปเกินกว่า 50 % จนสุดท้ายก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาใดๆด้วยต่างโยนความผิดกันไปมาว่าเสียหายเพราะภัยธรรมชาติ หรือการออกแบบที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง จนเป็นปัญหาคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามต่อมาเมืองพัทยาได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสำรวจความเสียหาย และข้อเท็จจริงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุของภัยธรรมชาติหรือปัญหาเรื่องของหลักทางวิศวกรรมกันแน่ โดยขอความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานหลักด้านวิศวกรรมทะเลและชายฝั่งจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมแกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่จะเข้ามาร่วมตรวจสอบ กระทั่งในยุคของ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี เป็นนายกเมืองพัทยาที่ได้รับการแต่งตั้งมาจาก คสช.ได้ออกมาเปิดเผยว่าผลการตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว โดยพบความผิด 2 ประเด็น ได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายการละเมิด ผิดพลาด ปล่อยปละละเลยโดยไม่เปิดใช้งานจริง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินราชการ และส่วนที่สองคือความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จนโครงการไม่สามารถใช้การได้ แต่จนถึงปัจจุบันเรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไป ทั้งๆที่มีการติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณทั้งในส่วนของ ปปช. ปปท. หรือสำนักงบประมาณ อย่างต่อเนื่อง
มีรายงานว่าที่ผ่านมาพื้นที่บริเวณโดยรอบอาคารสนามกีฬาในร่ม ศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก ซอยชัยพฤกษ์ 2 เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมืองพัทยาได้ทำการเก็บขนอุปกรณ์จำนวนมากซึ่งเป็นส่วนประกอบของโครงการที่จอดเรือมากองสุมทิ้งไว้เหมือนกองขยะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทุ่นเรือหลายร้อยชุดมูลค่าหลายสิบล้านบาทประจานสายตาให้แก่ผู้พบเห็น โดยล่าสุดมีการสั่งการให้ขนไปเก็บรักษาไว้ในที่ห่างไกลสายตาผู้คนเพื่อลดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเมืองพัทยา
ด้านนายปรเมศวร์ งามพิเชษญ์ นายกเมืองพัทยา โครงการนี้แม้จะไม่ได้อยู่ในสมัยที่มีการออกแบบและจัดซื้อจัดจ้าง แต่ก็ได้ติดตามเรื่องมาโดยตลอดจนทราบว่าปัจจุบันโครงการนี้ที่ทางเมืองพัทยาได้ส่งเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางไปเพื่อให้เอาผิดบริษัทผู้ออกแบบให้มารับผิดชอบกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น โดยระบุว่าการออกแบบไม่รัดกุม แต่ปรากฏว่าล่าสุดศาลปกครองกลางได้พิพากษาออกมาแล้วว่าผู้รับจ้างไม่มีความผิดต่อความเสียหายของโครงการที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดจากการออกแบบโครงสร้างของโครงการตามที่เมืองพัทยาฟ้องร้อง
อย่างไรก็ตามเมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้เมืองพัทยาจึงจำเป็นที่ต้องทิ้งสภาพของโครงการและวัสดุไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อรอผลการพิจารณาใหม่ด้วยหลังทราบผลคำพิพากษาจากศาลปกครองกลางแล้ว เมืองพัทยาก็ขอต่อสู้ต่อไปตามขั้นนตอนของกฎหมายโดยได้อุทธรณ์และส่งเรื่องฟ้องร้องต่อไปยังศาลปกครองสูงสุดเพื่อเอาผิดต่อไป ซึ่งหากศาลปกครองพิจารณาและพิพากษาให้ผู้ออกแบบมีความผิดก็ต้องเร่งให้เข้ามาดำเนินการแก้ ไขต่อความเสียหายของโครงการทั้งหมด แต่หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนคำพากษตามศาลปกครองกลางที่คาดว่าคงจะใช้อีกประมาณปีกว่าทุกอย่างก็คงจะจบ เพราะเมืองพัทยาก็คงต้องมารับผิดชอบเองทั้ง หมดทั้งในส่วนของการรื้อถอนซากของโครงการออก จากนั้นก็ต้องมาตั้งคณะกรรมการขึ้นมสอบสวนเพื่อหาความผิดทางการละเมิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจากัยธรรมชาติหรือความผิดที่เกิดจากความหละหลวมและความผิดพลาดจากบุคคลหรือหน่วยงานใดกันแน่ต่อไป