กต. เผยได้รับรายงาน คนไทยเสียชีวิต 12 ศพ ยืนยันจากทางการอิสราเอล 2 ศพ ส่วนอีก 10 คน ได้รับทราบข้อมูลจากนายจ้าง
(8 ต.ค.66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงกลาโหม กองทัพอากาศ เข้าร่วม และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เข้าประชุมออนไลน์เพื่อสรุปสถานการณ์ล่าสุด
ที่ประชุมได้หารือมาตรการต่างๆ รวมถึงความพร้อมของหน่วยงานไทยในการช่วยเหลือและอพยพคนไทยในสถานการณ์จำเป็น ทั้งนี้ รัฐบาลจะติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ทั้งการดูแลคนไทยในพื้นที่ การเข้าถึงเยียวยาญาติผู้ได้รับผลกระทบ การเตรียมการอพยพ รวมถึงการพิจารณาช่องทางทางการทูตต่างๆ ในการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับกุมเป็นตัวประกันต่อไป
โดย นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สรุปผลการประชุม Rapid Response Center (RRC) ต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางขณะนี้ ว่า
1. ไทยเราวางตัวเป็นกลางต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยสนับสนุนแนวทางสองรัฐ (Two-State solution) ที่อยู่เคียงคู่กัน โดยขอให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อหาแนวทางแก้ไขและหาทางออกร่วมกันอย่างยั่งยืนและสันติ
ทั้งนี้ ไทยขอประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ดังกล่าว โดยมิได้เจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
2. มีคนไทยพำนักอยู่ในอิสราเอลประมาณ 30,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคการเกษตร
ได้รับรายงานว่ามีคนไทยเสียชีวิตทั้งหมด 12 ศพ โดยได้รับการยืนยันจากทางการอิสราเอลแล้ว 2 ศพ ส่วนอีก 10 คน ได้รับทราบข้อมูลจากนายจ้าง โดยยังไม่มีชื่อและต้องรอการตรวจสอบจากทางการอิสราเอลต่อไป
นอกจากนี้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คน โดยบาดเจ็บสาหัส 2 คน และถูกลักพาตัว 11 คน
3. ที่ประชุมเน้นเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยและจำเป็นต้องอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลจะได้ดำเนินการได้อย่างทันท่วงที
พร้อมกับกำลังพิจารณาร่วมกับคณะทูตในอิสราเอลถึงความจำเป็นในการอพยพคนไทยออกมาจากอิสราเอล โดยรัฐบาลอิสราเอลให้คำมั่นในการดูแลความปลอดภัยคนต่างชาติอย่างเต็มที่
4. ที่ประชุมเห็นควรที่จะดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้
(1) อพยพคนไทยจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบออกไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
(2) แสวงหามิตรประเทศในการอพยพคนไทย
(3) กองทัพอากาศมีความพร้อมในการอพยพคนไทยภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ การเดินทางกลับประเทศไทยจะเป็นไปตามความสมัครใจของคนไทย
5. สำหรับการประสานงานเรื่องคนไทยถูกควบคุมตัวได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประสานกับผู้แทนปาเลสไตน์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อแสดงความห่วงกังวลและขอความเห็นใจในการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกลักพาตัว ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์แต่อย่างใด
6. กรมการกงสุลได้ติดต่อกับญาติของผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันแล้ว เพื่อให้กำลังใจ และพร้อมให้ความช่วยเหลือ
7. จะมีการจัดการประชุม RRC ประจำวัน ทุกวัน ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยเริ่มวันที่ 9 ต.ค. 66 เพื่ออัปเดตสถานการณ์และความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือคนไทย