วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ พรรคก้าวไกล นำโดยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค , นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และ สส.พรรคก้าวไกล เดินทางมาร่วมงานครบรอบ 47 ปี 6 ตุลาฯ
โดยนายพิธา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก่อนวางพวงหรีดรำลึก ว่า ตนคิดว่าเป็นบทเรียนที่เราไม่ควรลืมว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นที่นี่เมื่อ 47 ปีที่แล้วมันไปได้ไกลมากถึงขนาดไหน เพราะฉะนั้น พวกเราในฐานะนักการเมือง ในฐานะประชาชนในยุคปัจจุบัน จะต้องถอดบทเรียนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นไปไม่ได้อีกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มองว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนตั้งใจจะศึกษาและทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น
เมื่อถามว่านายพิธาเป็นหนึ่งในคนธรรมศาสตร์ มีประสบการณ์หรือความผูกพันกับเหตุการณ์นี้อย่างไร นายพิธา กล่าวว่า เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วที่เรียน อยู่ฝั่งตรงข้ามสนามฟุตบอลที่เป็นสถานที่ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อในอดีตที่ผ่านมา มีหลักฐานที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เราได้เห็นมุมมองต่างๆ
“มีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะเข้าถึง พยายามที่ทำให้เราลืม เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องการให้ทดแทนด้วยความว่าง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 4 ปีที่ผ่านมา ผมก็มีความพยายามศึกษาประวัติศาสตร์และเสาะหาข้อเท็จจริง จนถึงเวลานี้ยังไม่มีบทสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้นก็ยังไม่มีคำตอบให้สังคม” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ เข้าถึงความจริงที่มีคนพยายามจะปกปิดมาตลอดมากกว่ารุ่นของตนเยอะ
- 6 ตุลา ครบรอบ 2 เหตุการณ์ นองเลือดครั้งใหญ่ สุดสะเทือนใจ คนไทย
- กรมอุตุฯ พยากรณ์อากาศวันนี้ 6 ตุลาคม 2566 ฝนฟ้าคะนองทั่วประเทศ
- ฉาวอีก! สนามยิงปืนที่ เด็ก 14 กราดยิงพารากอน ไปซ้อม เป็นสนามของรัฐ
นายพิธา ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลไม่ได้สำคัญ และคิดว่าพรรคก้าวไกลก็ยังพยายามทำงานเพื่อทำให้เหตุการณ์แบบ 6 ตุลาฯ เป็นไปไม่ได้ เช่น การยื่น พ.ร.บ. นิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีการเมือง เพื่อจะเป็นการถอดฟืนออกจากกองไฟ ไม่ให้มีโอกาสทำให้เกิดความแตกแยกที่ไม่มีวันจบวันสิ้น
ขณะที่นายชัยธวัช กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คงไม่ใช่การรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตเท่านั้น เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนปัญหาทางการเมือง ตนคิดว่ายังเป็นโจทย์ที่ตกค้างในปัจจุบันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น ในการแสดงออกทางการเมือง การที่ระบบกฎหมายและอำนาจรัฐควรจะต้องเคารพชีวิตร่างกายของประชาชน ไม่ใช่อนุญาตให้อำนาจใดใดมาพรากชีวิต พิพากษาประชาชน ยังไม่ต้องนับว่าเรายังมีคนที่ถูกดำเนินคดีอย่างรุนแรงโดยเฉพาะความคิดเห็นทางการเมือง
ตอนนี้เรามีคนที่ถูกดำเนินคดีหลาย 1,000 คน ในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมื่อวานพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฏหมายนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีการเมือง ส่วนตัวมองว่านักเคลื่อนไหวที่ออกมาต้องการทำให้สังคมดีขึ้น
“เป้าหมายแรกที่รัฐบาลควรทำก่อนคือกันคืนความยุติธรรม เพื่อทำให้ทุกฝ่ายลดกำแพง เดินหน้าและใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยในการที่จะร่วมกันแสวงหาฉันทามติใหม่ของสังคมไทยว่าแม้เราจะเห็นต่างกันแต่เราอยู่ร่วมกันได้” นายชัยธวัช กล่าว
เมื่อถามว่าฝั่งรัฐบาลเตือนว่าต้องระวัง เพราะการยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรม อาจนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งใหม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนเชื่อว่ากระบวนการนิติบัญญัติในสภาจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราความคิดเห็นที่ยังไม่ตรงกันมาออกแบบร่วมกันอย่างรอบคอบและรอบด้าน ถ้าพรุ่งนี้จะผ่านสภาได้บังคับใช้ได้ไม่ใช่พวกก้าวไกลพรรคเดียว แกนนำพรรครัฐบาลกับเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆแม้กระทั่ง สว. ก็ต้องมีความเห็นที่เป็นจุดร่วมกัน ตนขอเชิญชวนพรรคการเมืองต่างๆ ถ้าเป็นไปได้สามารถส่งร่างของตนเองมาประกบได้
“ผมคิดว่าใช้กระบวนการทางสภาดีกว่าใช้อำนาจบริหารอย่างเดียว ถ้าเกิดไปออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม อันนี้ยิ่งเป็นกระบวนการที่รวบรัดและขาดการมีส่วนร่วม แต่กระบวนการทางสภาผ่านหลายขั้นตอน” นายชัยธวัช กล่าว
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่นๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY