ประเด็น “กำนันนก” ยังเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วประเทศ และหลายคนก็คาดหวังว่าปัญหาเรื่อง “ผู้มีอิทธิพล” จะถูกจัดการให้สิ้นซากเสียที ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความพยายามที่จะกวาดล้างกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต่างๆ อย่างจริงจัง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นเรื่องผู้มีอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกลงไปในสังคมไทยเสียแล้ว ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จึงทำการสำรวจเรื่อง “ผู้มีอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐ” และผลสำรวจของประชาชนก็ออกมาน่าสนใจมาก Sanook สรุปผลสำรวจประเด็นร้อนในสังคมตอนนี้มาฝากทุกคน!
- “บิ๊กก้อง” รับโอนคดียิงสารวัตรศิว ชี้ชัด “กํานันนก” บงการสังหาร ฟันไม่เลี้ยง ตร.ทำผิด ม.157
- สรุปไทม์ไลน์ คดีลูกน้อง “กำนันนก” ยิง “สารวัตรทางหลวง” ใครโดนจับแล้วบ้าง
ผู้มีอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐ
นิด้าโพลได้ทำการสำรวจประชาชนเรื่อง “ผู้มีอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐ” ระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน พ.ศ.2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ จำนวนทั้งหมด 1,310 คน โดยการสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลักของนิด้าโพล โดยเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัด พบว่า
- ร้อยละ 49.54 ระบุว่า ในเขตของตัวเองไม่มีผู้ใดเป็นผู้มีอิทธิพล
- ร้อยละ 26.34 ระบุว่า นักการเมืองท้องถิ่นเป็นผู้มีอิทธิพล
- ร้อยละ 15.95 ระบุว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้มีอิทธิพล
- ร้อยละ 15.80 ระบุว่า ตำรวจเป็นผู้มีอิทธิพล
- ร้อยละ 13.21 ระบุว่า ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนหลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น เป็นผู้มีอิทธิพล
ประชาชนไม่เชื่อในตำรวจ
นิด้าโพลยังได้สำรวจต่อไปถึงประเด็นเรื่อง “ความกล้า” ของประชาชน หากมีปัญหาหรือขัดแย้งกับผู้อิทธิพลในพื้นที่ พบว่า ประชาชนร้อยละ 60.30 ไม่กล้าเลย ในขณะที่ประชาชนกว่าร้อยละ 38.93 ระบุว่า “ไม่มีความมั่นใจเลย” ในด้านการปกป้องคุ้มครอง และให้ความยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อประชาชนมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพล
เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐบางคน ทำตัวเป็นลูกน้องหรือผู้ปกป้องคุ้มครองผู้มีอิทธิพล ก็พบว่า
- ร้อยละ 59.77 ระบุว่า เชื่อมาก
- ร้อยละ 26.49 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ
- ร้อยละ 8.32 ระบุว่า ไม่ค่อนเชื่อ
- ร้อยละ 4.35 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย
- ร้อยละ 1.07 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ