เมื่อเราเอ่ยถึงโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส หนึ่งในทีมบาสเกตบอลขวัญใจคนไทย ผู้เล่นคนแรกที่แวบเข้ามาในหัว ย่อมเป็น สตีเฟน เคอร์รี เจ้าของรางวัล MVP สองสมัย และสูตรโกงชู้ต 3 แต้มได้แม่นยำที่สุด
อย่างไรก็ตาม เคอร์รี คงไม่สามารถท้าชิงตำแหน่งผู้เล่นยอดเยี่ยม หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมทีม และกำลังใจในห้องแต่งตัว ที่ปลุกซูเปอร์สตาร์ผู้เงียบขรึม เป็นปีศาจยามลงสู่สนาม
นี่คือเรื่องราวของ เดรย์มอนด์ กรีน นักบาสเกตบอลผู้มีงานอดิเรกเป็นการ Trash Talk ใส่คู่ต่อสู้ แต่คำพูดร้ายกาจของเขานี้เอง ที่ผลักดันโกลเดน สเตท สู่ตำแหน่งแชมป์โลกหลายสมัย
เครื่องจักรนักด่า
หนึ่งในพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของนักกีฬาผิวดำ คือ “Trash Talk” การพูดจากวนประสาทคู่แข่งในสนาม เพื่อรบกวนสมาธิฝ่ายตรงข้าม ไล่ตั้งแต่ การพูดตลอดเวลาจนน่ารำคาญ, การทับถมคู่ต่อสู้, การยกตนข่มท่าน ไปจนถึง การด่าพ่อล่อแม่ด้วยคำหยาบ ซึ่งนับเป็น Trash Talk ขั้นสูงสุด
นักกีฬาบาสเกตบอลจำนวนไม่น้อย นิยมพูด Trash Talk ระหว่างการแข่งขัน เพราะนี่คือเทคนิคที่ช่วยเปลี่ยนผลการแข่งขันได้จริง นักบาสบางคนจึงฝึกพูด Trash Talk ตอนเรียนมหาวิทยาลัย หรือบางคนก็เริ่มแสดงความก้าวร้าวออกมา หลังจากเข้าสู่ NBA.. แต่ไม่ใช่กับผู้ชายที่เรากำลังจะพูดถึง
เดรย์มอนด์ กรีน เริ่มต้นพูดข่มขวัญคู่ต่อสู้ตั้งแต่อายุไม่กี่ขวบ เขาฝึกฝนความหยาบคายจาก เบนนี บาเบอส์ โค้ชบาสเกตบอลคนแรก และลุงแท้ๆของตัวเอง
คงมีไม่กี่ครอบครัวบนโลกใบนี้ ที่จะได้เห็นผู้ใหญ่สอนลูกหลานในบ้านฝึกด่าคนอื่นตั้งแต่เด็ก แต่เหตุผลที่ลุงเบนนีต้องทำแบบนี้ นั่นเพราะ เดรย์มอนด์ หลงรักกีฬาบาสเกตบอลมาก และจะไม่ยอมเดินออกจากคอร์ท แม้จะโดนเด็กที่อายุมากกว่า หรือผู้ใหญ่ไล่ออกจากสนาม
ลุงเบนนีจึงจำเป็นต้องสร้างเกราะคุ้มกันให้หลาน เพื่อป้องกันไม่ให้เดรย์มอนด์ถูกรังแก ซึ่งไม่มีอะไรดีกว่า Trash Talk
“คุณสามารถพูดได้แทบทุกอย่างในการ Trash Talk จนกระทั่งคุณเริ่มจะสบถด่า และไม่ให้ความเคารพคู่แข่ง” ลุงเบนนี กล่าวถึงเคล็ดลับที่เขามอบแก่หลานชาย
“เมื่อคุณเริ่มดูถูกคู่แข่ง คุณกำลังเปลี่ยนการพูดของคุณสู่อาวุธที่กระตุ้นให้คู่แข่งอยากต่อสู้ เคล็ดลับ คือ อย่าโกรธเคืองถ้ามีใครพูดไม่ดีกับคุณ”
“สิ่งที่คุณกำลังทำ คือ เล่นงานคู่แข่งให้เสียหลัก และฉวยประโยชน์จากตรงนั้น แต่ถ้าคุณเริ่มหงุดหงิดเสียเอง นั่นหมายความว่าคุณกำลังแพ้ เพราะคุณทำในสิ่งที่คู่แข่งอยากให้คุณทำ”
ตำราข่มขวัญคู่ต่อสู้จากลุงเบนนี พัฒนาเดรย์มอนด์ให้กลายเป็นนักบาสเกตบอลที่แข็งแกร่ง ด้วยวัยเพียง 15 ปี เขาลงแข่งขันทัวร์นาเมนต์บาสเกตบอลของ Amateur Athletic Union และแสดงผลงานต่อหน้าโค้ชบาสเกตบอลจากมหาวิทยาลัยชั้นนำมากมาย
ตัวเลือกอันดับหนึ่งของเดรย์มอนด์ คือ มหาวิทยาลัยมิชิแกน เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ประจำรัฐ (เขาเกิดที่เมืองแซกินอว์ รัฐมิชิแกน)
ถึงอย่างนั้น มหาวิทยาลัยมิชิแกนเกือบจะไม่รับเดรย์มอนด์เข้าเรียน เพราะชื่อเสียงในการ Trash Talk ที่เลื่องลือไปทั่ว หนึ่งในนั้น คือการถูกไล่ออกจากสนาม เนื่องจากพูดไม่หยุดตลอดทั้งเกม
“นักบาสเกตบอลคนนี้มีทัศนคติย่ำแย่” นี่คือชื่อเสียงที่ติดตัวเดรย์มอนด์ตลอดเวลา แม้เขาจะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนตามต้องการ แต่เพื่อนร่วมทีมและเฮดโค้ชไม่ค่อยเข้าใจพฤติกรรมห่ามๆของเขาเท่าใดนัก
ไม่ว่าจะเป็น การยกน้ำหนักเกินตัวจนอ้วก, ไม่สนใจการไดเอททั้งที่น้ำหนักตัวเฉียด 300 ปอนด์ และแน่นอนที่สุด คือการพูด Trash Talk ตลอดเวลา
เหตุผลเดียวที่ทำให้ เดรย์มอนด์ ได้ความยอมรับจากทุกคนในทีม คือ ผลงานในสนาม และ ความทุ่มเทของเขา เดรย์มอนด์ทำแต้มเฉลี่ย 8.5 แต้ม และ 5.3 รีบาวด์ต่อเกม ในทัวร์นาเมนต์ NCAA ประจำปี 2009 และยังเป็นตัวหลักที่พามหาวิทยาลัยมิชิแกนเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ
ผลงานของเดรย์มอนด์พัฒนาต่อเนื่องทุกปี เมื่อศึกษาจบ เขาจึงทำแต้มให้มหาวิทยาลัยมิชิแกน มากกว่า 1,000 แต้ม และรีบาวด์มากกว่า 1,000 ครั้ง ส่งผลให้เขากลายเป็นตำนานของทัพสปาร์ตันที่ผู้คนไม่มีวันลืม
หลังจากทำผลงานจนได้การยอมรับทั้งในระดับไฮสคูลและคอลเลจ ถึงเวลาแล้วที่นักบาสปากเสียรายนี้จะก้าวเท้าสู่สังเวียนบาสเกตบอลหมายเลขหนึ่งของโลก อย่าง NBA ซึ่งเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเดรย์มอนด์ กรีน
พิสูจน์คุณค่าของตัวเอง
ก่อนจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดราฟต์ปี 2012 เดรย์มอนด์ กรีน เพิ่งติดทีมยอดเยี่ยม All-American ร่วมกับดาวดัง ทั้ง แอนโทนี เดวิส และ โทมัส โรบินสัน แต่เขากลับไม่ใช่ตัวเลือกลำดับต้นๆในปีนั้น
ชื่อเสียเรื่องทัศนคติยังติดตัวเดรย์มอนด์ไม่จางหาย น้ำหนักตัวของเขาเกินกว่าเกณฑ์ตลอด 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย แถมความสูงของเขาซึ่งไม่ถึง 200 เซนติเมตร ถือว่าเตี้ยเกินไปสำหรับตำแหน่งเพาเวอร์ฟอร์เวิร์ด การเสี่ยงครั้งนี้จะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อ เดรย์มอนด์ มีทักษะขั้นสูงแทบทุกด้าน ซึ่งเกือบทุกทีมใน NBA ไม่คิดว่าเขาเก่งขนาดนั้น
ผู้เล่นระดับทีมยอดเยี่ยม จึงตกเป็นดราฟต์ลำดับ 35 ของปี 2012 หลังถูกเลือกโดยโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส ในรอบสองของการดราฟต์ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เดรย์มอนด์รู้สึกว่าเขาถูกมองข้าม แต่แทนที่จะหัวเสียไปกับเรื่องนั้น เขากลับรู้สึกว่านี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เขียนมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ
“การถูกเลือกในรอบสอง เหมาะสมกับผมมากกว่ารอบแรก เพราะผมต้องพิสูจน์ตัวเองมาตลอด แน่นอนว่าเรื่องนี้มันก็น่าหงุดหงิดเหมือนกัน แต่การถูกเลือกในรอบแรกไม่เหมาะกับเรื่องราวของผม”
เมื่อเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของทีมสะพานทอง เดรย์มอนด์ถูกจับคู่กับเจเรมี ไทเลอร์ นักบาสรุ่นพี่ที่มีอายุน้อยกว่า ตามธรรมเนียมแฟรนไชส์ที่ผู้เล่นหน้าใหม่ต้องมีเมนเทอร์ประจำตัว
เดรย์มอนด์กับไทเลอร์ไม่เคยมีปัญหาอะไรกัน แต่ความทะเยอทะยานของผู้เล่นหมายเลข 23 ก้าวไปไกลกว่านั้น เดรย์มอนด์สร้างสัมพันธ์กับขาใหญ่ อย่าง จาเร็ตต์ แจ็ค, คาร์ล แลนดรี และเจอร์เมน โอนีล ส่งผลให้เขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห้องแต่งตัวอย่างรวดเร็ว
“เขาเป็นผู้นำของทีมตั้งแต่ต้น ผมพยายามกระตุ้นให้เขาพูดความคิดของตัวเองออกมา และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองจากที่เคยเป็น นั่นทำให้เขาไม่กลัวที่จะพูดอะไรสักอย่างในห้องแต่งตัว” มาร์ค แจ็คสัน อดีตเฮดโค้ชโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส กล่าว
เดรย์มอนด์เริ่มต้นได้ดีในซีซั่นแรกด้วยฐานะผู้เล่นโรเตชั่น ก่อนก้าวมายึดตัวจริงในฤดูกาล 2013-14 พร้อมกับทำผลงานเฉลี่ย 6.2 แต้ม และ 5 รีบาวด์ต่อเกม เขาจึงได้รับความยอมรับจากผู้เล่นทุกคนในทีม แม้จะเข้าลีกเป็นปีที่สอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะพอใจกับพฤติกรรมของเดรย์มอนด์ ใครคนนั้นคือ เจอร์เมน โอนีล ลูกพี่ที่คอยหนุนหลังเขามาตลอด แต่กลับไม่พอใจนิสัยติดตัวของเดรย์มอนด์ที่ชอบต่อว่าเพื่อนร่วมทีมตลอดเวลา แม้กระทั่งจังหวะเล็กน้อยซึ่งไม่ส่งผลเสียหายต่อทีม
“ทุกคนเคารพนายในฐานะผู้นำของทีม ในฐานะผู้เล่น และในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง” โอนีล เล่าถึงคำกล่าวที่เขาสั่งสอนรุ่นน้องสุดที่รัก
“แต่สิ่งหนึ่งที่นายห้ามทำเด็ดขาด คือ ทัศนคติแบบ ‘ช่างแม่ง’ เพราะนายได้รับความเคารพจากทุกคนแล้ว และต้องไม่เสียมันไปด้วยเรื่องอะไรแบบนี้ ถ้านายหงุดหงิดกับบางสิ่งก็แสดงความหงุดหงิดออกมา แต่อย่าปลดปล่อยมันใส่คนอื่น”
เดรย์มอนด์กล่าวว่า นี่คือคำแนะนำที่ดีที่สุดในชีวิตนักบาสเกตบอล เขาแบกรับความหวังของทีมในฤดูกาล 2014-15 และพาต้นสังกัดชนะ 16 นัดรวด พร้อมกับทำคะแนนเฉลี่ย 13.3 แต้มต่อเกม โดยมีไฮไลท์สำคัญคือการทำ 31 แต้ม ในเกมชนะชิคาโก บูลส์ 112-102
ท้ายที่สุด โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส คว้าตำแหน่งแชมป์ NBA ฤดูกาลดังกล่าว โดยเดรย์มอนด์ติดผู้เล่นทีมออล-ดีเฟนซีฟ นับเป็นเกียรติประวัติส่วนตัวแรกที่เขาได้ใน NBA
แต่รางวัลที่มีความหมายมากกว่า ไม่ใช่เกียรติยศ หรือ ถ้วยแชมป์ใด.. กลับเป็นความเคารพจากคนรอบกาย ที่ยอมรับเขาในฐานะผู้เล่นบาสเกตบอลฝีมือดี ทั้งที่โดนมองข้ามอย่างร้ายกาจเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
“ผมไม่เคยคาดหวังให้ใครก้มหัวให้ผม หรือคาดหวังให้ใครเคารพในตัวผม เพราะผมจะคว้าความเคารพนั้นด้วยตัวเอง และเมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไป คุณจะต้องเคารพผม และทีมของผม”
ผู้เล่นที่ทีมขาดไม่ได้
เดรย์มอนด์ กรีน ยังคงเป็นกำลังหลักของโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส ในปัจจุบัน เขาประสบความสำเร็จจากการคว้าแชมป์ NBA ร่วมกับทีมอีกสองสมัย ในปี 2017 และ 2018 รวมถึงติดทีม All-Star สามปีซ้อน (2016-2018) และคงไม่มีรางวัลไหนสร้างชื่อให้เขามากกว่า รางวัลผู้เล่นเกมรับยอดเยี่ยมแห่งปี 2018
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เดรย์มอนด์จะได้รับความรักจากแฟนคลับทีมสะพานทอง แม้เขาจะไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์แบบ สตีเฟน เคอร์รี ที่เรียกเสียงเชียร์จากแฟนทั่วสนาม แต่ทุกครั้งที่เดรย์มอนด์ลงทำการแข่งขัน เสียงปรบมือจะดังก้องเชส เซนเตอร์ บ่งบอกได้ดีว่าแฟนโกลเดน สเตท ให้ความเคารพมากแค่ไหน
เดรย์มอนด์ยังสร้างไดนามิกใหม่แก่ทีม เพราะผู้เล่นอย่าง เคอร์รี, เคลย์ ทอมป์สัน และ อังเดร อิกัวดาลา ถึงจะมีความมั่นใจในตัวเองมากแค่ไหน พวกเขาคือนักกีฬาสายเงียบที่ตั้งใจทำงานมากกว่าเอ่ยปากพูด ซึ่งแตกต่างจากคาแรกเตอร์ของเดรย์มอนด์โดยสิ้นเชิง
“เขาพูดจาไม่ดีใส่ทุกคนแหละ” สตีฟ เคอร์ เฮดโค้ชโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส กล่าวสั้นๆถึงลูกทีมของเขา
คำพูดคำจาที่อาจไม่เข้าหูเพื่อนร่วมทีม คือกระดูกสันหลังที่คอยผลักดันโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส สู่การคว้าแชมป์สามสมัย ซึ่งมีน้อยคนนักที่จะรู้ เพราะแฟนบาสเกตบอลทั่วโลกรู้ดีว่า เคอร์รีและทอมป์สัน คือผู้เล่นที่ดีที่สุดในสนามของทีม รวมถึงเป็นผู้นำในสนามเช่นกัน
แต่เมื่อกลับเข้าสู่ห้องแต่งตัว ไม่มีใครมีอิทธิพลในทีมเท่าเดรย์มอนด์ ทุกครั้งที่พวกเขากอดคอกันเพื่อปลุกใจก่อนการแข่งขัน เดรย์มอนด์คือคนที่กล้าดูถูกเพื่อนร่วมทีมเพื่อเค้นศักยภาพของพวกเขาออกมา
“เราต้องการความหุนหันแบบที่เขามี เพราะทีมของเราเงียบกันมาก แน่นอนว่า พวกเรามั่นใจในตัวเอง แต่เดรย์มอนด์พาพวกเราไปสุดทางในแบบที่ผมชอบ” สตีฟ เคอร์ ชื่นชมลูกทีมของเขา
ความเป็นผู้นำของเดรย์มอนด์แสดงออกมาให้เห็นถึงปัจจุบัน เขาเพิ่งกล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงความพร้อมที่จะผลักดันเคอร์รีทุกทาง เพื่อช่วยเพื่อนร่วมทีมรายนี้สู่ตำแหน่ง MVP ฤดูกาลปัจจุบัน เพราะเดรย์มอนด์มองเห็นแล้วว่า ทุกคนในทีมโกลเดน สเตท จะได้ประโยชน์จากความสำเร็จครั้งนี้ ไม่ใช่เคอร์รีคนเดียว
“ถ้าตำแหน่ง MVP ไม่มีความสำคัญ คุณก็ควรทิ้งมันไปซะ และถ้าคุณคิดแบบนั้น นั่นอาจเป็นเพราะคุณเองดีไม่พอ หรือมันไม่สำคัญสำหรับคุณ แต่สำหรับผมที่ต้องการคว้าตำแหน่งแชมป์ เรื่องนี้สำคัญกับผม”
“เมื่อคุณมีผู้เล่นที่ทำผลงานได้ดีขนาดนั้น มันเป็นหน้าที่ของคุณที่จะทุ่มเททุกสิ่งเพื่อช่วยให้เขาคว้าชัยชนะในกีฬาบาสเกตบอล และเมื่อเขาเล่นในระดับสูงขนาดนี้ คุณจะอยากทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือเขา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร คุณจะทุ่มเทเพื่อเขา 100 เปอร์เซ็นต์”
เดรย์มอนด์ กรีน อาจไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ที่แฟนบาสทั่วโลกหลงรักแบบเคอร์รี และอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกของแฟนโกลเดน สเตท หากพวกเขาคิดจะซื้อเจอร์ซี่ย์ของใครสักคน
แต่ เดรย์มอนด์ กรีน คือผู้เล่นที่ทีมกีฬาทั่วโลกต้องการ ด้วยคาแรกเตอร์ด้านบวกและลบที่เข้ากันอย่างลงตัว ไม่มีสิ่งใดที่ต้นสังกัดจะได้ นอกจากการผลักดันทีมไปข้างหน้าและก้าวสู่ความสำเร็จตามที่ต้องการ
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงบุคลิกที่ความแตกต่างของแต่ละคนในกลุ่มคนหมู่มาก ไม่มีแบบไหนถูกหรือผิด หากได้รับการใช้งานอย่างถูกวิธี มันก็ช่วยผลักดันให้องค์กรเดินหน้าจนประสบความสำเร็จได้แบบโกลเด้น สเตท วอร์ริเออร์ส