ชื่อของ “วารุณี” อาจจะไม่ใช่ชื่อที่คนทั่วไปคุ้นหูมากนัก แต่เธอคือประชาชนอีกคนหนึ่งที่กลายเป็นผู้ต้องขังคดี ม.112 และเธอกำลังอดอาหารเพื่อประท้วงศาลที่ไม่ให้ประกันตัวหลายต่อหลายครั้ง พร้อมปฏิเสธไม่รับอาหาร น้ำ เกลือแร่ รวมถึงการกินยาประจำตัวทั้งหมด ซึ่งการประท้วงอดอาหารของเธอกินเวลามานานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว และตอนนี้ร่างกายของเธอก็กำลังย่ำแย่ แต่เธอยังมุ่งมั่นที่จะอดอาหารต่อไป เพื่อเรียกร้อง “สิทธิการประกันตัว” ที่เธอควรได้รับ
แม้วารุณีจะไม่ใช่ “คนดังทางการเมือง” ที่หลายคนรู้จัก แต่ถ้าพูดถึง “เพจน้องง” เชื่อว่าคงร้องอ๋อ กับมุกเสียดสีที่ตลกขบขัน จนกลายเป็นซับคัลเจอร์ในโลกออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็เอามาใช้เล่น และวารุณีก็คือ “กีของเพจ” ที่หลายคนคุ้นเคยกัน
Sanook เปิดเรื่องราวของวารุณี และการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับตัวเอง แม้ต้องแลกด้วยชีวิต
“วารุณี” คือใคร?
วารุณี คือผู้ต้องขังในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีโพสต์เฟสบุ๊กเป็นรูปภาพตัดต่อ เป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari นอกจากนี้ อัยการยังฟ้องวารุณีในอีก 2 ข้อหา คือเหยียดหยามศาสนา ตามประมวลอาญา มาตรา 206 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14
อัยการสั่งฟ้องวารุณี โดยระบุว่าภาพและข้อความที่เธอโพสต์ทำให้คนเข้าใจผิดว่าในหลวงทรงนำเครื่องแต่งกายผู้หญิงมาเปลี่ยนให้พระแก้วมรกต อันเปรียบเสมือนพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพของประชาชนคนไทย ส่วนชุดกระโปรงยาวสีม่วงนั้น ก็เป็นชุดที่ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ
ศาลตัดสินให้วารุณีรับโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นทนายความได้ยืนขอประกันตัวเธอในวันเดียวกัน แต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว
Warunee Weerasak
วารุณีเริ่มต้นอดอาหาร
ทนายความพยายามยื่นขอประกันตัวเรื่อยมา แต่ศาลก็ยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว วารุณีจึงตัดสินใจอดอาหารเพื่อประท้วงศาล เธอเริ่มต้นอดอาหารตั้งแต่เวลาเที่ยงของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 โดยเริ่มจากการดื่มเฉพาะนมก่อน และหากครบกำหนด 3 วัน ศาลยังไม่ให้ประกันตัว เธอจึงจะยกระดับการประท้วงเป็นการอดอาหารและน้ำ
กระทั่งวันที่ 24 สิงหาคม 2566 คำสั่งของศาลก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้วารุณีประกาศอดอาหารและน้ำ แต่จะจำกัดการดื่มน้ำไว้เฉพาะตอนที่ต้องกินยานอนหลับและยารักษาโรคอารมณ์สองขั้ว (Biporlar Disorder) เท่านั้น
“ศาลเอากฎหมายข้อนี้มากลั่นแกล้งคนธรรมดา มันต้องมีอีกกี่เคสถึงจะพอใจ พอเห็นว่าคนไม่สนใจแล้วจะทำยังไงก็ได้ เตะไปซ้ายไปขวาก็ได้เหรอ” วารุณีบอกกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
Warunee Weerasak
วารุณียังได้เซ็นเอกสารว่าไม่ขอรับการรักษาพยาบาลด้วยวิธีการใดๆ เพื่อยืนยันว่าเธอพร้อมรับความเสี่ยงที่จะตามมา อย่างไรก็ตาม วารุณีถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในวันที่ 30 สิงหาคม 2566
“หนูมาจนสุดทางแล้ว”
วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เพราะ “มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี” ซึ่งวารุณีได้ยื่นขอประกันตัวจากศาลอุทธรณ์มาแล้ว 5 ครั้ง และศาลฎีกาแล้ว 2 ครั้ง แต่ศาลก็ยืนยันคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวเช่นเดิม
หลังจากที่วารุณีได้ทราบ เธอก็ได้กล่าวว่า “หนูไม่หนีไปไหนหรอก แต่สิ่งเดียวที่หนูจะหนีไปไหนสักที ก็คงจะเป็นที่ที่ศาลตามไปไม่ได้ คือปรโลก หนูมาจนสุดทางแล้ว ใครจะบอกอย่างไรก็แล้วแต่ว่าโทษหนึ่งปีจะเอาชีวิตมาทิ้งทำไม แต่โทษหนึ่งปีแล้วหนูจะต้องหนีทำไมเป็นยี่สิบปี มันไม้แฟร์ ก็แค่ทำเรื่องปกติให้ปกติไม่ได้หรือ”
วารุณียังยืนยันที่จะอดน้ำและอาหารต่อไปจนกว่าจะได้รับสิทธิในการประกันตัว โดยเธอได้อดอาหารประท้วงมาเป็นวันที่ 18 และจำกัดการดื่มน้ำเป็นวันที่ 14 แล้ว
Warunee Weerasak
นอกจากวารุณีแล้ว ยังมี “เวหา” ผู้ต้องขังจากคดี ม.112 ก็กำลังอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา พร้อมกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ