ไขข้อข้องใจ : โลกร้อนขึ้น.. แล้วจะจัด "โอลิมปิก ฤดูหนาว" อย่างไรในอนาคต?

Home » ไขข้อข้องใจ : โลกร้อนขึ้น.. แล้วจะจัด "โอลิมปิก ฤดูหนาว" อย่างไรในอนาคต?
ไขข้อข้องใจ : โลกร้อนขึ้น.. แล้วจะจัด "โอลิมปิก ฤดูหนาว" อย่างไรในอนาคต?

“โอลิมปิก ฤดูหนาว” แค่ชื่อก็สื่อถึงอุณหภูมิอันหนาวเหน็บ กับสภาพแวดล้อมที่มีภูเขาปกคลุมไปด้วยหิมะสุดลูกหูลูกตา ชวนให้สัมผัสได้ถึงลมหนาวท่ามกลางความร้อนระอุราวเตาอบของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ในอีกไม่ถึง 30 ปีต่อจากนี้ ครึ่งหนึ่งของอดีตเมืองเจ้าภาพที่เคยมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการจัดโอลิมปิกฤดูหนาว จะมีอุณหภูมิที่ร้อนเกินไปแล้ว

กับโลกที่ร้อนขึ้นอยู่ทุกวัน แต่ละเมืองเจ้าภาพมีวิธีรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างไร? และอนาคตของการจัดกีฬาฤดูหนาวจะออกไปในรูปแบบไหนบ้าง?..

ร้อนจนต้องสั่งหิมะเข้ามา

ย้อนไปในโอลิมปิกฤดูหนาวที่ แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ปี 2010 พวกเขาประสบปัญหาขาดแคลนหิมะบนภูเขาไซเปรส สถานที่จัดกีฬาสกีและสโนว์บอร์ด เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงกว่า 5 องศาเซลเซียส และพยากรณ์อากาศว่าแทบไม่มีหิมะตกมาเพิ่มในช่วงก่อนพิธีเปิดการแข่งขัน

เมื่อเผชิญกับปัญหาที่ไม่ได้รับเชิญนี้ ทางคณะผู้จัดจึงต้องนำแผนกรณีฉุกเฉินมาใช้งานในทันที เริ่มจากการย้ายหิมะจากยอดเขา ลงมาในบริเวณด้านล่างของภูเขาไซเปรส ซึ่งกีฬาทั้งสองชนิดจะทำการแข่งขัน และนำหิมะสำรองในคลังที่ถูกกักตุนก่อนการแข่งขันออกมาสมทบให้เพียงพอ

1

และเพื่อเป็นการประหยัดปริมาณหิมะ ฟางข้าวและขอนไม้ได้ถูกนำมาเป็นฐานรองในหลายพื้นที่ ก่อนจะนำหิมะขึ้นมาเติมให้เต็มพื้นผิว รวมทั้งมีการปิดไม่ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้งาน ซึ่งสามารถช่วยรักษาและคงสภาพของหิมะให้อยู่ได้จนจบการแข่งขันนั่นเอง

แต่ถ้าคุณคิดว่าสถานการณ์ที่แวนคูเวอร์ค่อนข้างเลวร้ายแล้ว โอลิมปิกฤดูหนาวที่ โซชิ ประเทศรัสเซีย ในปี 2014 คงเป็นเหตุวินาศสันตะโรเลย เพราะนี่ถือเป็นโอลิมปิกฤดูหนาวที่แทบไม่มีความเป็นฤดูหนาวหลงเหลือเลย

ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 10 องศาเซลเซียส นี่คือโอลิมปิกฤดูหนาวที่ร้อนที่สุด และตลอดทั้งการแข่งขัน อุณหภูมิไม่เคยลดลงไปต่ำกว่าจุดเยือกแข็งสักวินาทีเดียวเลยด้วยซ้ำ

นั่นทำให้ทางรัสเซียต้องนำบทเรียนที่ได้จากแวนคูเวอร์มาปรับใช้ ทั้งการกักตุนหิมะไว้ล่วงหน้า และผลิตหิมะขึ้นมาด้วยตนเองให้ได้

การแข่งขันปี 2014 มีการใช้เครื่องผลิตหิมะมากกว่า 400 เครื่อง เพื่อผลิตหิมะมากกว่า 13 ล้านคิวบิคเมตร โดยอาศัยน้ำมากกว่า 870 ล้านลิตร มาลอกเลียนแบบกระบวนการเกิดของหิมะโดยธรรมชาติ ก่อนพ่นลงสู่พื้นผิวในภายหลัง

2

ในกรณีที่การผลิตหิมะเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ รัสเซียยังได้กักตุนหิมะปริมาณมากกว่า 710,000 คิวบิคเมตร เป็นเวลา 2 ปีก่อนโอลิมปิกฤดูหนาว โดยพวกเขานำมันไปเก็บสำรองไว้บริเวณยอดเขา และใช้แผ่นสะท้อนความร้อน เพื่อป้องกันการละลายในระหว่างฤดูร้อน และสามารถปล่อยให้ไหลลงมาตามทางได้หากจำเป็น

จากประสบการณ์ท้าทายอุณหภูมิสุดขั้วของ แวนคูเวอร์ และ โซชิ ก็คาดการณ์ว่านี่จะเป็นโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งแรกและครั้งเดียวที่ทั้งสองเมืองได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

แต่พวกเขาไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในตอนนี้

ร้อนจนจัดไม่ได้อีกแล้ว

จากอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นมากกว่าทุกช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทำให้ทีมวิจัยที่นำโดย เดเนียล สก็อต ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู พบว่า 9 เมืองที่เคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว จะร้อนเกินกว่าสามารถกลับมาจัดได้อีกครั้ง หลังผ่านปี 2050 ไป

3

นั่นคือตัวเลขที่สูงมาก เมื่อพิจารณาว่ามีแค่ 20 เมืองเท่านั้นที่เคยได้จัดโอลิมปิกฤดูหนาวขึ้น และหากมองไปถึงปี 2080 จะเหลืออยู่เพียงแค่ 6 เมืองเท่านั้นที่ยังหนาวเพียงพอจะจัดมหกรรมกีฬาดังกล่าวได้

และถ้านั่นยังเลวร้ายไม่พอ ตัวเลขดังกล่าวได้รวมถึงวิธีที่จะโกงธรรมชาติมาแล้วด้วย เช่น การผลิตหิมะเทียมขึ้นมา ซึ่งใช้กระบวนการอัดน้ำแรงดันสูงผ่านหัวฉีดฝอย เพื่อให้หยดน้ำดังกล่าวปะทะกับอากาศเย็น และแข็งตัวกลายเป็นหิมะแทบจะในทันที ก่อนจะตกลงสู่พื้นผิว

ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณน้ำ แต่คือสภาพอากาศที่อาจไม่หนาวเย็นได้เพียงพออีกแล้ว

นั่นคือเหตุผลที่ทำไมทางรัสเซีย ถึงจำเป็นต้องกักตุนน้ำแข็งอีกเกือบล้านคิวบิคเมตร มาไว้เป็นทางเลือกสำรองในโอลิมปิกเกมที่โซชิ

ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ กีฬาอย่าง ฮอกกี้ เคยสามารถจัดกลางแจ้งได้จนถึงปี 1952 สปีดสเก็ตติ้ง เพิ่งถูกนำมาจัดในร่มเมื่อปี 1988 ที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่แน่นอนของสภาพอากาศกลางแจ้ง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การย้ายภูเขาสกีที่สูงใหญ่หรือลานสกีพื้นราบ ซึ่งมีระยะทางยาวกว่า 50 กิโลเมตร คงไม่อาจทำได้ในเร็ววันนี้ และต่อให้สามารถย้ายเข้ามาเล่นในร่มได้จริง มนต์เสน่ห์ของการเล่นสกีก็คงหายไปไม่น้อยเลย

เมื่อทราบดีว่า Climate Change ส่งผลต่อวงการกีฬาในเขตหนาวมาโดยตลอด ประเทศเจ้าภาพในอนาคตจะมีแผนการรับมืออย่างไรเพื่อให้โอลิมปิกฤดูหนาวยังคงอยู่ต่อได้?..

หนทางจัดในอนาคต

4 กุมภาพันธ์ 2022 โอลิมปิกฤดูหนาวจะเวียนมาจัดที่ ปักกิ่ง ประเทศจีน หลังผลโหวตชนะเมือง อัลมาตี ของประเทศคาซัคสถาน และ 4 เมืองจากยุโรปอย่าง ออสโล ประเทศนอร์เวย์, สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน, ลวีฟ ประเทศยูเครน กับ คราคอฟ ประเทศโปแลนด์ ต่างตัดสินใจถอนตัว เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ กอปรกับกังวลเรื่องงบประมาณที่อาจบานปลายได้

4

โอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง อาจเผชิญปัญหาเดียวกับที่แวนคูเวอร์และโซชิได้เผชิญมา แม้ว่าพื้นที่ตัวปักกิ่งเองจะมีอุณหภูมิเฉลี่ย -1 องศาเซลเซียส แต่กับในพื้นที่ หยานชิ่ง กับ จางเจียวโค่ว แนวภูเขาที่ใช้ในการจัดกีฬาประเภทสกีและสโนว์บอร์ดนั้น ต่างมีหิมะตกตลอดทั้งปีแค่ 5-20 เซนติเมตรเท่านั้น น้อยเกินกว่าจะปกคลุมให้ทั้งภูเขาขาวโพลนขึ้นมาได้

แม้แต่ทีมงานของ IOC เอง ก็ได้แสดงความกังวลเกียวกับปริมาณหิมะในท้องที่ไว้ระหว่างช่วงที่คัดเลือกเมืองเจ้าภาพแล้ว แต่ด้วยประสบการณ์เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2008 ของปักกิ่ง ซึ่งเป็นแต้มต่อสำคัญให้สนามรังนกได้มีโอกาสกลับมาใช้งานในพิธีเปิดและปิดโอลิมปิกเกมส์อีกครั้ง

ที่ปักกิ่ง เป็นอีกครั้งที่หิมะเทียมต้องถูกนำมาใช้งานเพื่อเติมเต็มในสนามแข่งขันต่างๆ และอาจรวมถึงเมืองเจ้าภาพในอนาคต หรือพื้นที่ฝึกซ้อมของนักกีฬาที่อาจถูกจำกัดช่วงเวลาฝึกซ้อมให้น้อยลงกว่าเดิม หรือจำต้องเปลี่ยนการฝึกซ้อมเข้าเป็นในร่มแทน

อย่างไรก็ตาม ทาง IOC ก็ได้ระบุแผนงานที่จะช่วยชะลอและแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยจะมีการออกข้อบังคับให้เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว นับตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป ต้องเป็นการแข่งขันที่ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลก ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม

5

ที่น่าสนใจคือ จากทุกปัจจัยดังกล่าวไว้ข้างต้น มีโอกาสเป็นไปได้สูงมากว่าโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งถัดๆไป จะถูกเวียนจัดในเมืองที่เคยได้เป็นเจ้าภาพมาก่อนแล้ว พร้อมกับมีสภาพแวดล้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่เหมาะสม เพื่อลดค่าใช้จ่ายและผลกระทบต่อโลกใบนี้ให้น้อยลง

สุดท้ายนี้ เราทุกคนต่างอยู่ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บของปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นจริง โดยมีหลายเหตุการณ์เป็นที่ประจักษ์มาแล้วหลายครั้ง และมีแค่พวกเราที่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ก่อนที่นกหวีดหมดเวลาจะดังขึ้น แล้วทุกอย่างจะสายเกินกว่าจะกู้กลับมาได้แล้ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ