ช่วงที่ฝนตกหนักทุกวันแบบนี้ ระวังโรคที่มากับฝนเหล่านี้ด้วย
อ. นพ.วศิน เลาหวินิจ แพทย์ประจำฝ่ายเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุถึงโรคที่มักพบในหน้าฝนที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังนี้
5 โรคอันตรายที่มากับ “ฝน”
-
ไข้หวัด
เป็นโรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งเกิดได้หลายชนิด ผู้ป่วยมักมีไข้ต่ำๆ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นได้เองภายใน 2-3 วัน
-
ไข้หวัดใหญ่
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย ไอและมีน้ำมูก ปวดศีรษะ
-
ไข้เลือดออก
เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 2-7 วัน ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ พบจุดจ้ำเลือดที่ผิวหนังและกระเพาะอาหารได้
-
โรคฉี่หนู
เกิดขึ้นในพื้นที่น้ำท่วมขัง จะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้สูงเฉียบพลัน ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะ บริเวณหลัง น่อง และ ต้นคอ ควรหลีกเลี่ยงการเดินในพื้นที่น้ำขัง หรือมีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม
-
โรคติดต่อที่เกี่ยวกับดวงตา
เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก สัมผัสดวงตาจากการขยี้ตา หรือการกระเด็นทำให้เกิดอาการคัน หรือตาแดง
วิธีป้องกันโรคในหน้าฝน
- พยายามไม่ตากฝน ไม่โดนละอองฝน
- หากโดนฝน หรือเปียกฝนจริงๆ ไม่ควรปล่อยให้ตัวเปียกๆ นานๆ หรือระหว่างที่ตัวเปียกๆ ไม่ควรเข้าไปในสถานที่ที่มีอากาศเย็นจัด เช่น ห้องแอร์ อาจทำให้เป็นหวัดได้ง่ายขึ้น
- ไม่มีความจำเป็นต้องกินยาพาราเซตามอล หรือยาแก้แพ้ใดๆ หากไม่มีอาการ
- รวมถึง หากคิดว่าในอนาคตจะต้องเจอฝนแน่นอน ไม่ควรกินยาดัก เพราะในทางปฏิบัติจริงแล้ว ไม่สามารถช่วยได้
- ระหว่างที่ตัวเปียกฝน พยายามไม่เอามือมาสัมผัสหน้าตา
- เมื่อตัวเปียกฝนแล้ว ควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำสระผม ปล่อยไดร์ผมให้ผมแห้งตัวแห้งทันทีที่ถึงบ้าน
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี