กลุ่มสมาชิกส่วนกลางจากวิทยาลัยแมกดาเลน (MCR) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และเป็นหนึ่งในสหภาพนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ร่วมกันลงคะแนนโหวต เพื่อปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ออกจากบริเวณพื้นที่ส่วนกลางของวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่าพระฉายาลักษณ์ดังกล่าวสะท้อนประวัติศาสตร์การกดขี่ของสหราชอาณาจักรในยุคจักรวรรดินิยม
คณบดีวิทยาลัยแมกดาเลนเผยกับบีบีซีว่า การตัดสินใจปลดพระฉายาลักษณ์ของควีนครั้งนี้ เป็นมติที่มาจากสหภาพนักศึกษา ไม่ได้มาจากการตัดสินใจของคณะกรรมการวิทยาลัย
รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมของสมาชิกนักศึกษาวิทยาลัยแมกดาเลน ได้ลงมติเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า การปลดพระฉายาลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่ทำให้พื้นที่ส่วนกลางของวิทยาลัยน่าอยู่ และเป็นที่ยอมรับของทุกคนมากขึ้น “สำหรับนักศึกษาบางคนมองว่าการประดับภาพของพระมหากษัตริย์หรือสมาชิกพระราชวงศ์อังกฤษสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม” โดยที่ประชุมนักศึกษาวิทยาลัยแมกดาเลนได้ลงคะแนนเสียงด้วยมติ 10 เสียง สนับสนุนให้ปลดภาพ คัดค้าน 2 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการปลดพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีจากพื้นที่สถาบันการศึกษาครั้งนี้ จะกลายเป็นประเด็นเนื่องจากบางฝ่ายมองว่า การปลดรูปควีนครั้งนี้มีนัยยะแฝงที่จะสื่อถึงความต้องการยกเลิกสถาบันกษัตริย์อังกฤษ แต่อีกด้านหนึ่งก็มองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้มีอิทธิพลมากพอที่จะยกเลิกสถาบันได้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางของสถาบันการศึกษาเพื่อให้นักศึกษาทุกคนและจากทุกเชื้อชาติเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมโดยไร้อติหรืออิทธิพลเชิงลบด้านประวัติศาสตร์
ดินาห์ โรส ผู้แทนของวิทยาลัยแมกดาเลน กล่าวว่า ท่าทีดังกล่าวนักศึกษาไม่ได้เป็นตัวแทนทั้งหมดของวิทยาลัย โดยวิทยาลัยสนับสนุนสิทธิในการพูดและอภิปรายทางการเมืองอย่างมีอิสระ
“การเป็นนักศึกษานั้นเป็นมากกว่าแค่การเล่าเรียน แต่ยังเป็นเรื่องของการบุกเบิกหรือการถกเถียงแนวคิดต่างๆ รวมถึงการท้าทายแนวคิดจากผู้คนยุคเก่าในบางครั้ง และภาพดังกล่าวจะถูกดูแลจัดเก็บอย่างปลอดภัย”
อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าว มีเสียงสะท้อนถึงความไม่พอใจจาก “การ์วิน วิลเลียมสัน” รัฐมนตรีศึกษาธิการจากรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน โดยประณามว่าความเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มนี้เป็นเรื่อง “ไร้สาระ”
“พระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักร ตลอดรัชกาลของพระองค์ สมเด็จพระราชินีทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อส่งเสริมค่านิยมในสังคมอังกฤษโดยเฉพาะเรื่องความอดทน การไม่แบ่งแยก ทั้งยังทรงได้รับความเคารพจากทั่วโลกมาโดยตลอด”
ผลสำรวจชี้ “คนรุ่นใหม่” เริ่มไม่นิยมราชวงศ์อังกฤษ
ขณะเดียวกันผลสำรวจจาก YouGov ซึ่งเผยแพร่เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากการสำรวจความนิยมในสมาชิกราชวงศ์อังกฤษช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ชี้ว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ยังคงทรงได้รับความนิยมจากประชาชนโดยส่วนมากด้วยคะแนนราว 69% ตามด้วยเจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ที่ 61% และดัชเชสแคทเทอรีน พระชายาในอันดับสามที่ 59%
อย่างไรก็ตามหากแยกออกเป็นกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจในแต่ละช่วงอายุจะพบว่า สมเด็จพระราชินียังคงเป็นที่เคารพต่อกลุ่มคนยุคเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดระหว่างปี 2489 ถึง 2507 อยู่ที่ 77% ขณะที่ประชากรกลุ่มเจเนอเรชันเอกซ์ (Gen X) หรือผู้ที่เกิดระหว่าง 2508 ถึง 2522 อยู่ที่ 69% และประชากรกลุ่มมิลเลนเนียล หรือ Gen Y อยู่ระหว่างที่ปี 2524 ถึง 2539 อยู่ที่ 64%
ด้านผลสำรวจของสมาคมสื่อมวลชนสหราชอาณาจักร (PA Media) เผยว่า แนวคิดการสนับสนุนการเลือกตั้งประมุขของรัฐในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมา โดยจากการสำรวจเมื่อปี 2562 อยู่ที่ 26% ปี 2563 ขึ้นมาเป็น 37% และในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 41 สอดคล้องกับการสำรวจของ YouGov ในปี2564 ระบุว่า ผู้มีอายุระหว่าง 18 ถึง 24 กว่า 41% ต้องการประมุขรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ราชวงศ์อังกฤษถึงคราวที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อคงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของสถาบันพระมหากษัตริย์ และถึงแม้ว่าทุกคนจะมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับราชวงศ์แต่ต้องไม่ลืมที่จะแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และมีขอบเขตเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม