เตรียมแจ้งข้อหา 12 รุ่นพี่ทำร้ายร่างกาย “น้องปลื้ม” จนเสียชีวิต คาดมีโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต ตำรวจเผยมีพยานกว่า 40 คนให้ข้อมูล
กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของ นายวีรพัฒน์ หรือ ปลื้ม อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปี 1 คณะวิศวกรรมโยธา แผนกวิศวกรรมก่อสร้าง ที่เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำที่โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา
- ญาติติดใจ ลูกชายดับปริศนา พบหลักฐานเด็ด เชื่อถูกรุ่นพี่สถาบันดังซ้อมขณะเตรียมรับน้อง
- รองอธิการฯ เผย “รุ่นพี่ 12 คน” สารภาพรุมทำร้าย “น้องปลื้ม” เสียชีวิต แม่ไม่โทษสถาบัน
โดยสรุปว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในวันที่ 27 พฤษภาคม เหตุเกิดที่อาคารเรียนวิศวกรรมโยธาของทางมหาวิทยาลัย ที่เริ่มมีการทำกิจกรรมตั้งแต่เวลา 18.00 น. ซึ่งจากการสอบสวนพยานทราบว่าเป็นการเรียกทำกิจกรรม โดยรุ่นพี่ชั้นปีที่ 2 ทั้งหมด 12 คน สั่งให้นักศึกษาประมาณ 30 คน มาเข้าร่วมกิจกรรม โดยไม่ได้แจ้งขออนุญาตอย่างถูกต้องจากทางมหาวิทยาลัย
ระหว่างการทำกิจกรรมมีรุ่นพี่ทำโทษรุ่นน้อง ด้วยการเตะเข้าไปที่หน้าอกนายวีรพัฒน์ จนหมดสติ จึงได้มีการรีบพาตัวนายวีรพัฒน์ ส่งไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ก่อนจะย้ายส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราช และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยแพทย์ลงความเห็นว่า เกิดจาก “ลิ่มเลือดที่น่องหลุดไปอุดตันเส้นเลือดขั้วปอด”
ส่วนเรื่องการแจ้งความดำเนินคดี พี่ชายของนายวีรพัฒน์ ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.ปทุมวัน ไว้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน ว่าน้องชายได้เข้าร่วมกิจกรรมและได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมาในวันที่ 3 มิถุนายน คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ได้ไปลงบันทึกประจำวันเรื่องการใช้สถานที่โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ไม่ได้ลงในรายละเอียดอื่นที่ชัดเจน
ขณะที่พลตำรวจตรีปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า คดีนี้ตำรวจอยู่ระหว่างการทยอยเรียกสอบปากคำพยานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแยกเป็นกลุ่มๆ เบื้องต้นพบผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้นายวีรพัฒน์เสียชีวิต แบ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้าไปรุมทำร้ายประมาณ 6-7 คน และผู้สั่งการ ทั้งหมดเป็นรุ่นพี่ชั้นปีที่ 2 ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะข้อความสนทนาทางไลน์ เพื่อระบุตัวผู้กระทำความผิดให้ชัดเจน ก่อนพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยเจตนา ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต
พร้อมกันนี้ยืนยันว่า ไม่หนักใจเรื่องการพิสูจน์ความผิด แม้ว่าในที่เกิดเหตุอาจไม่มีกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ แต่ก็มีพยานที่อยู่ในเหตุการณ์กว่า 30-40 คน ที่สามารถชี้ตัวได้ว่าใครทำอะไรในเหตุการณ์ดังกล่าว สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว เห็นว่าทางมหาวิทยาลัยควรต้องเพิ่มความเข้มงวดในการสอดส่องดูแล ไม่ให้เกิดการรับน้องที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของอาจารย์