10 คำถามภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย

Home » 10 คำถามภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย
10 คำถามภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย

รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

1. ภูมิแพ้เป็นพันธุกรรมหรือไม่ ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกจะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้มากน้อยแค่ไหน

เป็น สาเหตุของโรคภูมิแพ้ เกิดจาก กรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม   โดยพบว่า ถ้าพ่อ หรือแม่ เป็นโรคภูมิแพ้ จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50   แต่ถ้าทั้งพ่อ และแม่เป็นโรคภูมิแพ้ จะมีผลให้ลูกมีโอกาส เป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70   ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัว ที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลย มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ เพียงร้อยละ 10 

 

2. สังเกตว่าอาการแพ้ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เช่น บางคนแพ้แล้วคัน บางคนแพ้แล้วคัดจมูก บางคนแพ้แล้วมีผื่นขึ้น ทำไมอาการของแต่ละคนถึงแตกต่างกัน มีสาเหตุจากอะไร เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือไม่

โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย อาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคภูมิแพ้ที่เป็น เช่น ถ้าเป็นที่จมูก เรียกว่า โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ ก็จะมีอาการทางจมูก, ถ้าเป็นที่ผิวหนัง เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ก็จะมีอาการทางผิวหนัง การที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดใด ก่อน หรือหลัง ขึ้นอยู่กับยีน หรือพันธุกรรมที่จะแสดงออก โดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้น

3.แต่ก่อนแพ้แต่ไรฝุ่น แต่ทำไมปัจจุบันแพ้เยอะแยะไปหมดและเป็นมากขึ้น เป็นเพราะอะไรและจะแก้ไขอย่างไร

โรคภูมิแพ้ เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานมากเกินไป ทำให้อวัยวะเป้าหมายมีความไว หรือตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ การที่แพ้สารก่อภูมิแพ้มากชนิดขึ้น และมีอาการมากขึ้น เกิดจากมีเหตุที่กระตุ้นอวัยวะเป้าหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ที่เป็นไม่ได้หลีกเลี่ยงเหตุนั้นๆ แก้ไขโดยพยายามหลีกเลี่ยงเหตุที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการมากขึ้น และประกอบเหตุที่ทำให้อาการลดลง คือการออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

4. อาการภูมิแพ้จะมีโอกาสหายขาดหรือไม่

โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้  เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม  แต่สามารถควบคุมไม่ให้มีอาการ หรือมีอาการน้อยที่สุดได้ 

5. ตอนเด็กๆ ก็ไม่แพ้อะไร ทำไมโตขึ้นมาถึงแพ้ได้

สาเหตุของโรคภูมิแพ้ เกิดจาก กรรมพันธุ์  และสิ่งแวดล้อม   การแสดงออกของอาการโรคภูมิแพ้ จะเกิดขึ้นเร็ว หรือช้า  จะเกิดขึ้นในวัยเด็ก หรือในวัยผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับยีน หรือพันธุกรรมที่จะแสดงออก โดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้น

6. ยาแก้แพ้ใช้ไปนานๆ ติดต่อกันเป็นเดือน จะมีผลเสียหรือไม่ จะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่

 

ไม่มีผลเสีย ถ้าผู้ป่วยมีการทำงานของตับ และไตที่ปกติ เพราะยาแก้แพ้จะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านตับ และไต แต่ถ้าตับ และไตทำงานผิดปกติ อาจมีการสะสมของยาในร่างกายได้ แต่การใช้ยาแก้แพ้ไปนานๆ เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ เมื่อหยุดใช้ยาแก้แพ้ และผู้ป่วยไม่ได้ไปแก้ที่เหตุ อาการของโรคก็จะกลับมาเป็นใหม่

7. ยาพ่นจมูกที่ใช้แล้วจมูกโล่งทันที ใช้ไปนานๆจะมีผลข้างเคียงหรือไม่

มี จะเกิดเยื่อบุจมูกอักเสบ และบวมจากการใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดพ่นจมูกนานเกินไป ปกติ แนะนำให้ใช้ยาดังกล่าวไม่เกิน 7 – 10 วัน เพราะยาจะทำให้เส้นเลือดของเยื่อบุจมูกหดตัว ส่งผลให้เยื่อบุจมูกยุบบวม แต่ถ้าใช้ไปนานๆ เส้นเลือดของเยื่อบุจมูกที่เคยหดตัว จะกลับมาขยายตัว ส่งผลให้เยื่อบุจมูกกลับมาบวมใหม่ เกิดอาการคัดจมูกตามมา

 

8. มีน้ำมูกตอนตื่นนอนตอนเช้าทุกวัน แล้วสักพักก็จะหายไป เป็นอาการแพ้อากาศหรือไม่ ต้องแก้ไขอย่างไร ลองปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศแล้วก็ยังเป็นอยู่

การที่มีน้ำมูกตอนตื่นนอนตอนเช้า แสดงว่าต้องมีเหตุที่กระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในเยื่อบุจมูก อยู่ในห้องนอน ซึ่งมักจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมในห้องนอนเป็นตัวกระตุ้น เช่นฝุ่นในห้องนอน อากาศภายในห้องมักจะเย็น เนื่องจากอากาศภายนอกตอนเช้า มักจะเย็นกว่าเวลาอื่นของวัน สักพัก อาการจะหายไป เนื่องจากขณะนั้น ไม่มีเหตุไปกระตุ้นเยื่อบุจมูกที่ไวนั้นแล้ว  การแก้ไขควรจัดสิ่งแวดล้อมในห้องนอน ไม่ให้มีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ และไม่ควรเปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศเป่าจ่อ หรือเย็นจนเกินไป

 

9. เราควรหยุดยาแก้ภูมิแพ้ตอนไหนดี 
เมื่อสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการได้พอสมควร และประกอบเหตุที่ทำให้โรคนี้ดีขึ้นแล้ว คือการออกกำลังกายแบบแอโรบิค (เช่น วิ่ง,  เดินเร็ว,  ขึ้นลงบันได,  ว่ายน้ำ, เต้นแอโรบิค, เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน   หรือบาสเกตบอล)อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ  30  นาที   อย่างน้อยสัปดาห์ละ   3  วัน  

 

10. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคภูมิแพ้จมูก มีอะไรบ้าง

ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ โรคหืด  ไอเรื้อรัง  เจ็บคอเรื้อรัง  ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก นอนกรนและ / หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ