“อ้วน อ้วน อ้วน อ้วน อ้วน ใครๆ ก็หาว่าเธอน่ะอ้วนนนนน”
คำว่า “อ้วน” พูดเบาๆ ก็เจ็บไม่แพ้คำว่า “แก่” เลยนะคะ แต่จะว่าไป “อ้วน” ก็ไม่ได้มีแค่ลักษณะเดียว บางคนดูอ้วนบึบบั่บทั้งตัว แต่บางคนก็อ้วนเฉพาะส่วน โดยเฉพาะ “พุง” แล้ว อ้วนลงพุง แตกต่างจาก อ้วนธรรมดา อย่างไร Sanook! Health มีคำตอบค่ะ
อ้วนลงพุง คืออะไร?
อ้วนลงพุง จริงๆ เป็นโรคชนิดหนึ่งนะคะ หมายถึงโรคอ้วนที่มีไขมันในช่องท้องมากเกินไป ส่วนภายในร่างกายที่เราอาจมองไม่เห็น อาจมีปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาการอ้วนลงพุงจะเป็นสาเหตุสำคัญของอีกหลายๆ โรคอันตรายที่จะตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด
iStock
อ้วนลงพุง ต่างจาก อ้วนธรรมดา อย่างไร?
-
วัดเส้นรอบเอว
ตรงตามชื่อโรค หากใครมีรอบพุงยาวกว่านี้ แสดงว่ามีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง
ผู้ชาย รอบพุงมากกว่า 90 เซนติเมตร
ผู้หญิง รอบพุงมากกว่า 80 เซนติเมตร
-
ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ 1.7 มิลลิโมลต่อลิตร โดยจะทราบได้ก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจเลือดที่โรงพยาบาลเท่านั้น
-
ระดับไขมันเลว (LDL)
ระดับไขมันเลว (LDL) ในเลือด หากผู้ชายมากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แปลว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนลงพุง
-
ความดันโลหิต
หากมีระดับความดันโลหิตสูงกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท แปลว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนลงพุง
-
ระดับน้ำตาลในเลือด
ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารตอนเช้า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือมากกว่า หรือเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อยู่แล้ว
หากอยู่ในภาวะ “อ้วนลงพุง” ควรทำอย่างไร?
ง่ายๆ เลยก็คือการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดอาหารที่มีไขมันเลว หรือคอเลสเตอรอลสูง เน้นผัก โปรตีนไขมันน้อย ออกกำลังกายให้ได้มากกว่า 30 นาที 3-4 วันต่อสัปดาห์ ทั้งคาร์ดิโอและเล่นเวท และอย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอ รับรองว่าร่างกายจะดีขึ้นจากภายในสู่ภายนอกแน่นอน