เชื่อกันว่าทุกคนคงเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างแล้ว กับประโยคที่ว่า “อ้วนเพราะยาคุม” หรือ “ยาคุมเสี่ยงที่อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นได้” แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวที่พูดต่อๆ กันมานั้น เราจะทราบและเชื่อถือได้อย่างไรว่า มีความจริงแฝงอยู่มากน้อยแค่ไหนบ้าง Hello คุณหมอ จึงขอนำบทความที่จะพาให้ทุกคนหายข้องใจมาฝากกัน
อ้วนเพราะยาคุม เรื่องจริงหรือความเชื่อ
จากข้อมูลหอสมุดแพทย์แห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้ผู้หญิงมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะร่างกายมีการกักเก็บของเหลว และไขมันมากเกินไป รวมไปถึงฮอร์โมนบางชนิดอย่าง โปรเจสติน (Progestins) ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่อยู่ในยาคุมก็สามารถทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก ฮอร์โมนเหล่านี้อาจมีส่วนช่วยตัวกระตุ้นเพิ่มความอยากอาหาร และกักเก็บของเหลวในร่างกาย จนเกิดผลข้างเคียงทำให้คุณมีเริ่มมีน้ำมีนวล หรืออ้วนขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่ หากในยาคุมที่มีระดับปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ไม่สูงนัก ก็อาจไม่ส่งผลให้ร่างกายมีการกักเก็บน้ำจนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
ถึงอย่างไรก็ตามยังไม่มีการพิสูจน์ และหลักฐานที่แน่ชัดเจนมากพอ ดังนั้น ก่อนจะเริ่มรับประทานยาคุมทุกครั้ง คุณจึงจำเป็นต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาคุมแต่ละชนิด พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรับประทานอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยแก่สุขภาพร่างกายตัวคุณเอง
สาเหตุที่ทำให้คุณมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
นอกจากผลข้างเคียงของฮอร์โมนในยาคุมแล้ว การใช้ชีวิตประจำวันโดยการไม่ดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงไม่ควบคุมการรับประทานอาหารให้ดี ก็สามารถทำให้คุณมีความเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักเพิ่ม หรืออ้วนขึ้นได้เช่นกัน โดยสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้นั้น มีดังนี้
- การเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง หรือไม่มีการคำนวณแคลอรี่
- ระบบการเผาผลาญทำงานผิดปกติ
- ไม่ออกกำลังกาย
- ร่างกายขาดน้ำ หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อวัน
หากอ้วนเพราะยาคุม จะมีวิธีจัดการอย่างไร
บางครั้งยาคุมที่คุณใช้อยู่อาจมีผลข้างเคียงที่ส่งผลทำให้คุณอ้วนขึ้น ดังนั้น คุณอาจจะต้องเปลี่ยนยี่ห้อของยาคุณแทนยาคุมที่เคยรับประทานอยู่ โดยควรขอคำปรึกษากับเภสัชกรในร้านขายยา หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนั้น ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เช่น การเต้นแอโรบิค การเดิน การวิ่ง หรือเล่นกีฬาอื่นๆ ควบคู่ไปกับการจำกัดอาหารและจำกัดแคลอรี่ให้อยู่ระหว่าง 1,200-1,500 แคลอรี่
หากคุณรู้สึกว่า การรับประทานยาคุมกำเนิดมีความยุ่งยากเกินไป คุณอาจจะเข้ารับการปรึกษาเพิ่มเติมจากแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัยของเพศหญิง การฉีดยาคุม การฝังยาคุม เป็นต้น ซึ่งวิธีการคุมกำเนิดในรูปแบบอื่นๆ นั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ รวมถึงสุขภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย