กรณีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.66 เวลา 11.22 น. เกิดเหตุระเบิดในโรงเรียนมัธยมชื่อดัง ย่านนางเลิ้ง เบื้องต้นมีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
โดยมีรายงานว่า ทางโรงเรียนได้เชิญเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามเสนมา ทำการซักซ้อมการควบคุมเพลิง พร้อมวิธีการอพยพให้กับเด็กนักเรียน ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เปิดแก๊สถังขนาด 20 กก. และทำการจุดไฟเพื่อสาธิตวิธีการดับไฟเบื้องต้น แก๊สได้รั่วไหลออกมาจนเป็นเหตุให้ระเบิดจนทำให้ผู้เสียชีวิตกระเด็นไปไกลกว่า 10 เมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากร ได้รับบาดเจ็บด้วยเช่นกัน
- อ่านข่าว เปิดคลิปนาทีถังดับเพลิงระเบิด ขณะซ้อมดับเพลิง นักเรียนกรี๊ดลั่นทั้งโรงเรียน
ต่อมา อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของเหตุถังดับเพลิงระเบิด คาดว่า เป็นเพราะถังดังกล่าวถูกนำไปบรรจุแก๊สเพิ่ม และวางตากแดดเป็นเวลานานจนอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แรงดันขยายตัวและระเบิด เนื่องจากไม่มีวาล์วเซฟตี้ติดตั้งอยู่ครับ
พร้อมแนะนำเรื่องการเก็บรักษาดูแลถังดับเพลิง ดังนี้
หลีกเลี่ยงการติดตั้งไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง มีความชื้นสูง หรือเกิดความสกปรกได้ง่าย เช่น ตากแดด ตากฝน หรือติดตั้งใกล้จุดกำเนิดความร้อนต่างๆ เช่น เตาไฟ หรือเครื่องจักรที่มีความร้อนสูง
ทำความสะอาดตัวถัง และอุปกรณ์(สายฉีด, หัวฉีด) เป็นประจำเพื่อตรวจดูสภาพตัวถังและอุปกรณ์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และมีสภาพใหม่อยู่เสมอ
หากเป็นเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ควรยกถังพลิกคว่ำ-หงาย ประมาณ5-6ครั้ง ทุกๆ3-6เดือน เพื่อให้ผงเคมีมีการเคลื่อนตัวและไม่จับตัวเป็นก้อน
เครื่องดับเพลิงที่มีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป ควรส่งมาตรวจสอบที่บริษัทเพื่อตรวจเช็คสภาพของตัวเครื่องและทำการถ่ายเคมีออกและบรรจุใหม่
ถ้าแรงดันในถังเกิน (OVERCHARGE) สูงกว่าแรงดันปกติ (195 psi)สภาพถังอาจจะบวมหรือแตกออก หากแรงดันขึ้นสูงเกิน 1000psi อาจทำให้เกิดอันตรายเนื่องจากถังอาจระเบิดได้!!! ควรติดต่อบริษัทให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน หมายเหตุ:
เครื่องดับเพลิงชนิด CO2 จะไม่มีมาตรวัดแรงดัน ผู้ใช้สามารถตรวจวัดก๊าซ ภายในถังได้โดย วิธีชั่งน้ำหนัก หากน้ำหนักก๊าสภายในถังลดลงต่ำกว่า80 % ควรติดต่อบริษัทเพื่อทำการดำเนินการบรรจุใหม่ในทันที