“วันชัย” เผย ส.ว. แบ่ง 3 ก๊ก โหวต “พิธา” แจงกลุ่ม ยังไม่ตัดสินใจ กลุ่มอยู่ระหว่างพิจารณา มีจำนวนมาก เชื่อ ส.ว. 250 คนมีวุฒิภาวะไม่มีใครสั่งได้ ส่วนเอ็มโอยูรู้สึกเฉยๆ ชี้ ม.112 ยังอีกไกล
23 พ.ค. 66 – เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มของส.ว.ในการโหวต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ หลังทำเอ็มโอยูกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่า
ต้องยอมรับว่า ยังมีเวลาเกือบอีก 2 เดือน ดังนั้นการหารือกับ ส.ว.อย่างเป็นทางการยังไม่มี แต่มีการแลกพูดคุย และปรึกษาหารือกัน และยังไม่ถึงขนาดตัดสินใจไปในแนวทางใดชัดเจน
ดังนั้นขอเรียนว่า จากการที่ตนติดตามและปรึกษาหารือในหลายกลุ่มนั้น สรุปแนวทางได้ 3 แนวทางคือ กลุ่มที่ 1 เป็น ส.ว. ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือกตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยบอกว่า ขอรอเวลาก่อน และกลุ่มที่ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณา และจะไปตัดสินใจในวันโหวต
ซึ่งกลุ่มที่ 2 และ 3 ถือว่ามีจำนวนมาก เขาคงดูสถานการณ์ ดูเหตุการณ์ แล้วค่อยตัดสินใจเพราะหากตัดสินใจในวันนี้ ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ เขาจึงสงวนท่าที แล้วพิจารณาสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วไปตัดสินใจในวันโหวตเลย
นายวันชัย กล่าวว่า ฉะนั้นแนวทางเท่าที่ดูมา คือมีการโหวตว่าจะเลือกหรือไม่เลือก กับอีกแนวทางหนึ่งคือการงดออกเสียง ก็อาจจะเป็นไปได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่า แนวทางในการโหวตเลือกนายกฯ จะมี 3 แนวทางดังกล่าว ส่วนแนวทางไหนจะมากหรือน้อยกว่ากัน ยังไม่สามารถบอกได้
แต่เชื่อเหลือเกินว่า ส.ว. มีการปรึกษาหารือกันตลอด และบอกว่า การตัดสินใจครั้งนี้ มีแนวทางวิธีการที่จะโหวต เพื่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ และยืนยันว่า จะไม่ทำให้พี่น้องประชาชนผิดหวังแน่นอน
เมื่อถามว่าใน 3 กลุ่มดังกล่าว นายวันชัย อยู่กลุ่มไหน นายวันชัย กล่าวว่า ตนตัดสินใจว่า ตั้งแต่ต้นก่อนการเลือกตั้ง จนกระทั่งวันนี้ว่า โหวตให้คนรวมเสียงข้างมาก แล้วเขาเสนอใครเป็นนายกฯ และตนก็โหวตให้กับคนนั้น ซึ่งเป็นจุดยืนของตนมาตั้งแต่ต้นและไม่เปลี่ยนแปลง
ต่อข้อถามว่า ทางพรรคก้าวไกล ได้มาทำความเข้าใจกับทางส.ว.แล้วหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่เขาจะหาวิธีการ เพราะแต่ละพรรคการเมืองต่างๆ ที่เขาจะตกลงกันเชื่อว่ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนจนกระทั่งตกลงกันได้ และในทำนองเดียวกัน อะไรที่เห็นว่า ส.ว.ยังไม่เข้าใจ เห็นไม่ตรงกัน การที่จะมาพบ ส.ว.ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสื่อสารและทำความเข้าใจกัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตนไม่ได้รับการประสานใดๆ แต่เขาอาจจะติดต่อกับคนบางกลุ่ม บางพวกที่มี ซึ่งเท่าที่ตนทราบก็มี แต่ยังไม่ได้เป็นทางการ ซึ่งทราบจากเพื่อน ส.ว. คนไหนที่มีกลุ่ม และรู้จักแต่ละคนก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
เมื่อถามถึงตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญเหมือนกัน เพราะจะต้องเป็นประธานรัฐสภาด้วย ทางส.ว.มีการพูดคุยกัน เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกนายกฯหรือไม่ว่า ควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร เพื่อที่จะทำงานร่วมกันได้ นายวันชัย กล่าวว่า ส.ว. ไม่มีหน้าที่เลือกประธานสภาฯ เพราะเป็นเรื่องของสภาฯ ทางส.ว.จึงไม่ได้นำเรื่องนี้มาพิจารณา ประกอบการตัดสินใจ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของแต่ละสภาที่จะตัดสินใจเอง แม้ในอนาคตจะต้องทำงานร่วมกันในฐานะประธานรัฐสภา แต่ก็ไม่ได้เกี่ยว และไม่ใช่หน้าที่ของเรา
เมื่อถามว่า ในเอ็มโอยู การร่วมรัฐบาลไม่มีเรื่องของมาตรา 112 จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ว. เลือกนายพิธา หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ส.ว. แต่ละคน ตนเองพยายามที่จะแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะ ส.ว. แต่ละคน ท่านบอกว่า เป็นสิทธิของตัวท่าน
เพราะฉะนั้นใครจะพูดหหรือแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิแต่ละคน และยังเป็นเห็นเขานำเรื่องนี้มาพูดคุยกัน แต่ในส่วนตัวตนเห็นเอ็มโอยูแล้ว รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ติดใจอะไร และคิดว่า ประเด็นเหล่านี้ยังอีกยาวไกล ที่จะนำมาพิจารณาและมีระยะเวลาในการพิจารณาอีกมาก ส่วน ส.ว. ท่านใดจะตัดสินใจอย่างไร จะให้ความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร ตนคิดว่าเป็นสิทธิของแต่ละคน
ต่อข้อถามถึง การถือครองหุ้นสื่อของ นายพิธา จะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของ ส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าประเด็นนี้เท่าที่พูดคุยกัน ส.ว.หลายคนบอกว่า เป็นเรื่องขององค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะวินิจฉัย
ฉะนั้น ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องขององค์กรที่เกี่ยวข้องที่ตัดสิน และส.ว.ทั้ง 250 คน แต่ละคนก็อาจจะมีประเด็นแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน บางคนเขาไม่ได้ติดใจอะไรเลย บางคนก็บอกชัดเจนว่าคำนึงถึงเสียงข้างมากเป็นสำคัญ แต่บางคนในการตัดสินใจก็เป็นเหตุผลของเขา ตนขอไม่ก้าวล่วง
เมื่อถามถึงการชุมนุมในเย็นวันนี้ 23 พ.ค. ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะมีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว.หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวการชุมนุมใดๆ ส.ว.รับฟังอยู่แล้ว คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธเสียงของพี่น้องประชาชน
ดังนั้นจึงเชื่อว่าทุกเรื่อง ทุกประเด็นต่างๆ นำมาประกอบการตัดสินใจได้ทั้งสิ้น ไม่ได้มองเป็นศัตรูคู่อาฆาต หรือไม่ได้มองกันถึงขนาดว่าจะเป็นเหตุของการที่จะโหวตให้หรือไม่โหวตให้ แต่เรามองด้วยเหตุด้วยผล เพราะถือว่าการชุมนุมเป็นการแสดงออกในระบอบ แต่ในสถานการณ์และภาวะอย่างนี้การเจรจาและการพูดคุยกัน หารือกันด้วยไมตรีที่ดีจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน
“ผมเชื่อว่า ส.ว.แต่ละคนมีวุฒิภาวะ ท่านไม่ได้ดื้อรั้นอะไร แต่ความคิดเห็นก็เป็นสิทธิของแต่ละคน และส.ว.มีตั้ง 250 คน จะให้ไปในแนวทางเดียวกันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่บอกว่า มีกลุ่มนั้นมาสั่งกลุ่มนี้ กลุ่มนี้มาส่งกลุ่มนั้น หรืออยู่ในอาณัติของคนนั้นคนนี้ ผมอยากจะบอกให้พี่น้องประชาชน คลายกังวลต่อประเด็นนี้ได้เลย ไม่มีใครมาสั่งใครในสถานการณ์อย่างนี้ และไม่มีใครมาบอกว่า อย่างนั้นเอาไม่เอา ยิ่งในสถานการณ์อย่างนี้ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจของแต่ละคนผมถือว่าเป็นเรื่องที่สวยงามและเหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้“ นายวันชัย กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า ในวันนี้ 23 พ.ค. ส.ว. จะมีการหารือนอกรอบเพื่อพิจารณาเรื่องการโหวตนายกฯ หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ไม่ได้มีการประชุมกันแบบนอกรอบ หรือนัดกันเป็นกลุ่มใหญ่แต่อย่างใด แต่กลุ่มย่อยเล็กๆ 10-20 คน ก็จะคุยกัน ซึ่งตั้งแต่เช้ามาก็มีการพูดคุยกันตามลำดับ แม้จะปิดสมัยประชุม แต่การประชุมกรรมาธิการแต่ละคณะ การทำภารกิจร่วมกันก็ยังมีอยู่ตลอดเวลา
จึงเชื่อว่า ทุกครั้งที่มีการพูดคุยกัน มีการนำเรื่องทางการเมืองมาหารือกันอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุด อยากจะบอกว่า ยังมีเวลาอีกเกือบ 2 เดือนในการตัดสินใจ ดังนั้น ส.ว. หลายคนสงวนท่าทีที่จะตอบ
ส่วน ส.ว. คนใดประกาศตัวว่า เลือกหรือไม่เลือกก็ถือว่า เป็นอิสระของท่าน แต่ส่วนใหญ่บอกว่า ยังมีเวลาในการตัดสินใจ