FootNote:การชิง “การนำ” ใน “พันธมิตร” ก่อนจะเป็น “บันทึกช่วยจำ” มา
ไม่ว่ามองผ่านปฎิกิริยาอันสะท้อนมาจาก #มีกรณ์ไม่มีกู ไม่ว่ามอง ผ่านปฏิกิริยาอันสะท้อนมาจากการต่อรองในเรื่องการจัดทำ “บันทึกช่วยจำ” หรือ MOU ก่อนประกาศในวันที่ 22 พฤษภาคม
ล้วนสะท้อนให้เป็นการปะทะ ไม่เพียงแต่ต่อปัจจัยจาก “ภายนอก” หากเด่นชัดยิ่งว่าดำรงอยู่แม้กระทั่ง “ภายใน”
ภายนอกอันเป็นกลไกจากกฎกติกา ซึ่งบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะข้อกำหนดแห่งมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลถึงอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา
เฉพาะหน้าอาจฉายผ่านการดำรงอยู่ของพรรคชาติพัฒนากล้า อาจฉายผ่านความพยายามของพรรคก้าวไกล ในความจำเป็นที่จะต้องสร้าง “คณิตศาสตร์” ทางการเมืองเพื่อต่อสู้
กระนั้นภายในความพยายามนี้ ก็แตะเข้าไปยังพรรคชาติพัฒนากล้า ซึ่งไม่เพียงแต่เคยร่วมในการขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากแต่ยังมีองค์ประกอบอันซับซ้อน
เป็นองค์ประกอบตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557
เป็นผลสะเทือนเดียวกันกับกรณีของ “บันทึกช่วยจำ”
ความเห็น “ต่าง” ในระหว่างการจัดทำ “บันทึกช่วยจำ” ก่อนประกาศในวันที่ 22 พฤษภาคม แต่ละจังหวะก้าวล้วนสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ “ภายใน” ของพันธมิตรแห่งแนวร่วม
ตั้งแต่ปัญหาในเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กระทั่งแต่ละนโยบายที่ปรากฏระหว่างการหาเสียง
พรรคเพื่อไทยก็มีเจตจำนงอันเป็นของตน พรรคประชาชาติก็มีเจตจำนงอันเป็นของตน พรรคไทยสร้างไทยก็มีเจตจำนงอันเป็นของตน พรรคเป็นธรรมก็มีเจตจำนงอันเป็นของตน
ก่อนเกิดการหลอมรวมในทางความคิดเพื่อนำไปสู่การสร้างจุดร่วมผ่าน “บันทึกช่วยจำ” ย่อมมีการต่อสู้ ยืนยันเจตจำนงในทางอัตวิสัยแห่งพรรคการเมืองของตน
เพราะว่าแต่ละพรรคการเมืองล้วนมี “เป้าหมาย” ล้วนมีความต้องการ ล้วนมีผลประโยชน์อันแน่วแน่และแจ่มชัด
ยอมรับเถิดว่าประดิษฐ์กรรมว่าด้วย “บันทึกช่วยจำ” เป็นเรื่องใหม่ อย่างยิ่งในแวดวงการเมืองไทย ยอมรับเถิดว่าสถานะของพรรคก้าวไกล ก็มิได้ดำรงอยู่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
การต่อรอง การช่วงชิง “การนำ” จึงแสดงออกมาพร้อมหน้า
ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาชาติ ไม่ว่าพรรคไทยสร้างไทย ไม่ว่าพรรคเสรีรวมไทย ไม่ว่าพรรคเป็นธรรม ล้วนต้องการชิงความได้เปรียบมาเป็นของตน
นี่คือความท้าทายเป็นอย่างสูงภายใน “ความใหม่” ของพรรคก้าวไกล
นี่คือ ประสบการณ์ที่พรรคก้าวไกลจำเป็นต้องเรียนรู้