อีสานโพล เผย 90% คนอีสาน พอใจสูตรตั้งรัฐบาล ‘พิธา 1’ แต่ไม่มั่นใจ เสียงสว.จะเพียงพอ เห็นควระต้องได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 พ.ค.2566 ที่ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล เปิดเผยว่าคณะทำงานอีสานโพลได้สำรวจความคิดเห็นของคนอีสานเกี่ยวกับความคิดเห็นหลังทราบผลการเลือกตั้ง จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,100 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัดใน ประเด็นหลักคืออยากรู้ว่าคนอีสานรู้สึกอย่างไรหลังจากทราบผลการเลือกตั้งและพรรคร่วมรัฐบาลที่อยากให้มาร่วมกันจะมีพรรคไหนบ้าง พรรคไหนควรจะเป็นรัฐบาล พรรคไหนควรจะเป็นฝ่ายค้าน
“จริงๆแล้วอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี คำถามเหล่านี้จะสะท้อนโครงสร้างของประชากรชาวอีสาน คนอีสานรู้สึกมีความหวังเพราะเหตุผลได้เลือกตั้งและคนที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากทราบการเลือกตั้ง ถึงแม้คนอีสานส่วนใหญ่จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเยอะกว่าพรรคก้าวไกลแต่พอเห็นผลการเลือกตั้งก็ได้มีการสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นอันดับ 1 น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร เป็นอันดับ 2 ตามมาห่างๆคือนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นอันดับ 3 รัฐบาลที่อยากให้มาร่วมรัฐบาล พบว่าหลังจากที่พรรคก้าวไกลได้เชิญพรรคต่างๆมาร่วมรัฐบาล ถูกใจคนอีสานกว่าร้อยละ 90 รู้สึกพอใจที่จะให้มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล”
รศ.ดร.สุทิน กล่าวต่ออีกว่า ส่วนฝ่ายรัฐบาลชุดเดิมคนอีสานจากการสำรวจอยากให้ไปเป็นฝ่ายค้านในรอบนี้ และได้ถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับการที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนพบว่าส่วนใหญ่อยากให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนซึ่งแบ่งเป็นว่าควรจะเสร็จภายใน 2 ปี กับอีกส่วนมองว่าไม่จำเป็นต้องรีบภายใน 4 ปี ให้เสร็จ ที่เหลือร้อยละ 20 บอกว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนภายใน 4 ปีนี้ แต่ร้อยละ 80 เห็นว่าควรจะต้องได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
” สำหรับคำถามเพิ่มว่าพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะรวบรวมเสียงจาก สว. ได้เพียงพอหรือไม่ พบว่าร้อยละ 60 คิดว่าไม่น่าจะได้เสียง สว. เพียงพอ ร้อยละ 40 ยังมีความหวังว่าน่าจะมี สว. มาช่วยโหวตให้พอจัดตั้งรัฐบาลได้ มีการถามเรื่องการซื้อเสียงพบว่าร้อยละ 40 บอกว่าไม่พบการซื้อเสียงด้วยตัวเองแต่ว่าคนในชุมชนมาเล่าให้ฟังว่าได้เงิน ร้อยละ 30 บอกว่าได้เงินจากการซื้อเสียงเจอมากับตัว ร้อยละ 20 บอกว่าไม่พบเจอและคนในชุมชนก็ไม่ได้พบเห็นการซื้อเสียง”