เปิดเงินเดือน-เงินตอบแทน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมแล้วกว่า 1.1 แสนบาท แถมตั้งผู้ช่วยรับเงินเดือนได้อีก 8 คน ได้เงินเดือนอีกด้วย
วันที่ 19 พ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสในโลกออนไลน์ที่มีการเรียกร้องให้ ส.ว. 250 คน โหวตสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมากนั้น ขณะที่มีส.ว.บางส่วนออกมาแสดงจุดยืนที่จะไม่โหวตให้กับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเสียงข้างมากนั้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้การเดินหน้าสะดุด กระทั่งมีการตั้งคำถามถึงเงินเดือนและค่าตอบแทนของข้าราชการการเมืองในตำแหน่งต่าง ๆ โดยเฉพาะ ส.ว. และ ส.ส.
จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ประธานวุฒิสภา มีเงินเดือน 74,420 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 45,500 บาท รวม 119,920 บาท, รองประธานวุฒิสภา มีเงินเดือน 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวม 115,740 บาท ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีเงินเดือน 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท
ขณะที่ ส.ส. ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีเงินเดือน 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาท, รองประธานสภาผู้แทนราษฎร มีเงินเดือน 63,860 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 106,360 บาท, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มีเงินเดือน 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวม 115,740 บาท,
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีเงินเดือน 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท ทั้งนี้ ส.ส.ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย เมื่อได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง ส.ส. อีก
ทั้งนี้ สมาชิก ส.ส. กับ ส.ว. แต่ละคนยังสามารถมีผู้ช่วย 8 คน แบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน มีเงินเดือน ๆ ละ 24,000 บาท ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน มีเงินเดือน ๆ ละ 15,000 บาท และผู้ช่วย ส.ว.5 คน มีเงินเดือน ๆ ละ 15,000 บาท