เครือข่ายนักวิชาการ เผยผลโหวตกว่า 3 ล้านเสียง ส.ว.ควรเคารพเสียงประชาชน อึ้ง 3 แสนคน ใน 12 ชม. คล้ายพยายามบางอย่างหรือไม่ แนะ กกต.เร่งรับรองส.ส.
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 พ.ค.2566 ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน ร่วมแถลงข่าว ผลโหวตเสียงประชาชน “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ส.ว.ควรเคารพเสียงประชาชน และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส.” และข้อเสนอแนะถึง ส.ว. และพรรคการเมืองเสียงข้างมากในการตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
โดยมีผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว มหาวิทยาลัยบูรพา รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ตามที่เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชนจาก 10 มหาวิทยาลัย ร่วมกับสื่อมวลชน 10 สำนัก เปิดโหวตเสียงประชาชน ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 15 พ.ค. ถึงเวลา 12.00 น. ของวันนี้คือ 18 พ.ค. มีการโหวตทั้งสิ้น 3,487,313 ครั้ง จาก 167 ประเทศ เห็นด้วย 85 เปอร์เซ็นต์ และไม่เห็นด้วย 1 เปอร์เซ็นต์
ประเด็นของผลคือ การออกเสียงประชามติตามหลักการของประชาไตยโดยตรง แต่มีข้อสังเกต เนื่องจากก่อนการปิดโหวด 12 ชั่วโมง คะแนนเห็นด้วยอยู่ที่ร้อยละ 93 และมีการโหลด 3 แสนครั้งภายใน 12 ชั่วโมง มีความกังวลใจคล้ายกับว่ามีความพยายามทำอะไรบางอย่างหรือไม่
ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านเดิม หรือที่เรียกกันว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ได้เสียงข้างมากรวมกันเกิน 300 เสียง โดยพรรคก้าวไกลที่ได้เสียงอันดับหนึ่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจากจำนวนเสียง 313 เสียงในขณะนี้ มากเพียงพอจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กำหนดให้ ส.ว.ชุดแรกเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ทำให้จำนวนเสียงที่ต้องใช้ในการเป็นนายกฯ ต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา ก็คือ 376 เสียง ซึ่งยังขาดอีก 63 เสียงจึงจะเป็นรัฐบาลได้
“จากนี้อีกประมาณ 60 วันที่จะโหวตเลือกนายกฯ จึงถือได้ว่าเป็น การหาเสียงครั้งที่สอง พรรคที่จะเป็นรัฐบาล จะต้องไปหาเสียงต่อกับผู้เลือกนายกฯ ขณะนี้มี 313 เสียงแล้ว จึงขาดอีก 63 เสียง ซึ่งสามารถหาเสียงหรือขอเสียงได้ทั้งจาก ส.ส.ที่เหลือ และ ส.ว.อีก 250 คน โดยใช้นโยบายที่ตกลงกันได้ ส่วนจะหาเสียงอย่างไร เป็นเรื่อของพรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
สำหรับบทบาทของกกต. ประชาชนคลางแคลงใจต่อการทำหน้าที่ของกกต.ยิ่งกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา กกต.จึงต้องยิ่งแสดงออกในการทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม โดยเฉพาะขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกฯ กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งและรับรอง ส.ส. ให้คนเชื่อมั่นในความเที่ยงธรรม คือเป็นไปโดยไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับพรรคหนึ่งพรรคใด
ผศ.ดร.ปริญญา ย้ำว่า สำหรับคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ปมถือหุ้นสื่อ รวมทั้งผู้สมัครส.ส. คนอื่น หากมีผู้สมัครคนใดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนหรือมีคุณสมบัติต้องห้าม กกต.ควรต้องประกาศว่าขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หากเลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยประกาศว่าขาดคุณสมบัติ ย่อมเป็นความบกพร่องของ กกต. และย่อมถูกมองได้ว่าอาจมีเจตนาให้คุณให้โทษกับผู้หนึ่งผู้ใด หรือพรรคหนึ่งพรรคใดได้
สิ่งที่ กกต. พึงกระทำคือ หากมิใช่กรณีการทุจริตหรือคดโกงการเลือกตั้งแล้ว กกต.ควรต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. และหากผู้ใดมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หรือต้องตีความ ก็ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญต่อไป ไม่พึงตัดสินเองในเรื่องที่เป็นอำนาจฝ่ายตุลาการเพราะจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย
รศ.ดร.โอฬาร แสดงความคิดเห็นว่า เกือบ 4 ล้านโหวด ขอให้ส.ว.เห็นด้วยตามเสียงข้างมากของประชาชน จึงอยากให้ส.ว.ช่วยรับหลักการนี้ไปพิจารณา ท่านไม่ต้องกังวลใจ เพราะท่านยังเป็นผู้ที่ตรวจสอบถวงดุลรัฐบาลชุดนี้อยู่แล้ว สถานการณ์ที่ตึงเครียดของ 2 ฟาก และยิ่งกลไกการเมืองที่ผิดปกติจะทำให้ทุกอย่างไม่ดีขึ้น ดังนั้น อะไรที่กังวลใจหรือไม่สบายใจ ควรเปิดโต๊ะเจรจากัน