รู้จัก “หนังสือเดินทางวัคซีน” ทำงานอย่างไร?

Home » รู้จัก “หนังสือเดินทางวัคซีน” ทำงานอย่างไร?
รู้จัก “หนังสือเดินทางวัคซีน” ทำงานอย่างไร?

สหภาพยุโรป ประเทศในเอเชียบางส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมสายการบิน เสนอแนวคิดให้มีการจัดทำ “หนังสือเดินทางวัคซีน” ขึ้นเพื่อเปิดรับการท่องเที่ยวในขณะที่มีผู้ได้รับวัคซีนมากขึ้น โดยระบบของหนังสือเดินทางท่องเที่ยวจะกำหนดให้ผู้เดินทางใช้แอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์ยืนยันว่า พวกเขาได้รับวัคซีนแล้ว และไม่ต้องถูกกักตัวหลังเดินทางถึงประเทศปลายทาง

istock-1214508941

อย่างไรก็ตาม ความพยายามผลักดันให้มีการจัดทำหนังสือเดินทางพิเศษในยุคโควิดนี้ก็พบกับความท้าทายต่างๆ เช่น การขาดระบบระหว่างประเทศส่วนกลางเพื่อตรวจสอบสถานะรับวัคซีนทั้งทางอิเล็กทรอนิกและทางเอกสาร หรือคำถามถึงความเป็นส่วนตัว และการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อผู้เดินทางจากประเทศที่ได้รับวัคซีนและประเทศที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

ถึงอย่างนั้นก็ตาม หลายประเทศก็ยังต้องการให้มีหนังสือเดินทางวัคซีนต่อไป เช่น สหภาพยุโรป หรือ อียู เปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้ว ซาอุดิอาระเบียก็จะเริ่มอนุญาตให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้วให้เดินทางออกนอกประเทศได้เช่นกัน

ความพยายามระหว่างรัฐบาลประเทศต่างๆ

อียู จีน และญี่ปุ่น ต่างกำลังผลักดันเอกสารวัคซีนดิจิทัลสำหรับเดินทางต่างประเทศ ส่วนอังกฤษก็ปรับปรุงแอปพลิเคชั่นของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่ออนุญาตให้ผู้เดินทางพิสูจน์สถานะรับวัคซีนของตนเองได้ โดยอังกฤษได้เริ่มผ่อนปรนกฎระเบียบการเดินทางลงแล้ว

นอกจากนี้ อียูยังทดสอบเอกสารดิจิทัลเพื่อยืนยันผลการตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัส หรือยืนยันว่าบุคคลหายจากโรคโควิด-19 แล้ว โดยจะเริ่มมีการใช้เอกสารนี้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้เดินทางในอียูจะได้รับการตรวจสอบเอกสารวัคซีนที่ไหนและอย่างไร โดยทางเบลเยียมระบุว่า แต่ละประเทศจะกำหนดนโยบายดังกล่าวด้วยตัวเอง

สำหรับแนวคิดของเอกสารดิจิทัลนั้น ผู้เดินทางจะแสดงคิวอาร์โค้ดในโทรศัพท์ของตนที่สนามบินหรือสถานีรถไฟเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกับระบบข้อมูลระดับประเทศ

การใช้แอปพลิเคชั่นท่องเที่ยว

ผู้เดินทางต้องมีแอปพลิเคชั่นท่องเที่ยวในโทรศัพท์มือถือเพื่อแสดงเอกสารรับวัคซีนอย่างเป็นทางการ โดยทางอียูมีโครงการให้ประเทศยุโรปที่มีเทคโนโลยีเสรีสามารถใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวเพื่อจัดทำเอกสารทางการเป็นของตนเองได้

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ยังมีแอปพลิเคชั่นเป็นของตนเอง คือ IATA Travel Pass ซึ่งใช้โดยสายการบินต่างๆ เช่น ควอนตัส, เจแปน แอร์ไลน์, เอมิเรตส์, บริทิช แอร์เวย์ และเวอร์จิน แอตแลนติค นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชั่น CommonPass ที่ใช้โดยสายการบินคาเธย์ แปซิฟิค, เจ็ตบลู, ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ และลุฟต์ฮันซา โดยขณะนี้ ผู้เดินทางโดยสายการบินดังกล่าวเท่านั้นถึงจะใช้แอปพลิเคชั่นทั้งสองตัวนี้ได้

แอปพลิเคชั่นทั้งสองทำงานร่วมกับแอปพลิเคชั่นเดินทางของสายการบิน ผู้ใช้งานจึงสามารถแสดงสถานะการรับวัคซีนของตนได้ขณะลงทะเบียนเพื่อขึ้นเครื่องบินออนไลน์ โดยทั้งสองแอปพลิเคชั่นจะใช้เอกสารวัคซีนของอียู ทาง CommonPass ระบุว่า ผู้ใช้งานจะสามารถกรอกข้อมูลของตนในแอปพลิเคชั่นได้ภายในกลางเดือนมิถุนายน

พอล เมเยอร์ หัวหน้าของ CommonPass ยังกล่าวด้วยว่า หนังสือเดินทางวัคซีนจะถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น และหวังว่ามาตรการนี้จะเป็นข้อกำหนดสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ

ความต้องการของผู้เดินทาง

ผู้เดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจแลดูจะพอใจกับนโยบายหนังสือเดินทางพิเศษนี้ เช่น ไอย์เมอริค เซการ์ด หัวหน้าบริษัทลูนาเจ็ตส์ ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องบินไอพ่นส่วนตัวในนครเจนีวา ระบุว่า หนังสือเดินทางวัคซีนจะทำให้ผู้เดินทางไม่ต้องตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัสหลายๆ ครั้งระหว่างเดินทางอีกต่อไป เขายังไม่กังวลด้วยว่าเอกสารวัคซีนอาจระบุข้อมูลส่วนตัวของเขา เพราะเขายินดีเปิดเผยสถานะรับวัคซีนของตนเอง

จะรับมือกับปัญหาเอกสารปลอมอย่างไร?

เอกสารวัคซีนดิจิทัลนั้นปลอมแปลงได้ยากเมื่อเทียบกับเอกสารแบบแผ่นกระดาษ โดยทาง IATA อธิบายว่า แอปพลิเคชั่นของตนนั้นไม่ได้รับรองผลการตรวจเชื้อโคโรนาไวรัสของผู้โดยสาร หรือไม่ได้รับรองว่าผู้โดยสารได้รับวัคซีนจริงหรือไม่

การทำงานของแอปพลิเคชั่นดังกล่าวจะเปรียบเทียบข้อมูลของผู้เดินทางกับข้อมูลการตรวจเชื้อและข้อมูลการรับวัคซีนของพวกเขาที่ได้รับจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง โดยมีการตรวจสอบเพื่อป้องกันการปลอมแปลงอัตลักษณ์ด้วย

ความมั่นคงและความปลอดภัย

ผู้เดินทางบางส่วนกังวลว่า หนังสือเดินทางวัคซีนอาจถูกใช้เพื่อควบคุมประชาชน จำกัดเสรีภาพ และรุกล้ำความเป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นระบุว่า แอปพลิเคชั่นเหล่านี้จะเก็บข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือไว้น้อยมาก โดยเควิน ทริลลื หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Onfido บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีเอกสารวัคซีน ระบุว่า แอปพลิเคชั่นเหล่านี้เพียงถามคำถามให้ผู้ใช้งานตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่” และไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่นอนว่าระบบหนังสือเดินทางวัคซีนที่มีหลายระบบนี้จะทำงานด้วยกันได้หรือไม่ หรือประเทศต่างๆ จะยอมรับเอกสารของต่างประเทศหรือไม่ หรือหากผู้เดินทางไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน พวกเขาควรทำอย่างไร? ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ IATA และอียูยอมรับว่า ยังต้องหาทางออกกันต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ