เศรษฐา ลั่นขอสละตำแหน่งนายกฯ ถ้าต้องร่วมรัฐบาลกับ ‘ตู่-ป้อม’ เปิดใจเล่นการเมือง

Home » เศรษฐา ลั่นขอสละตำแหน่งนายกฯ ถ้าต้องร่วมรัฐบาลกับ ‘ตู่-ป้อม’ เปิดใจเล่นการเมือง


เศรษฐา ลั่นขอสละตำแหน่งนายกฯ ถ้าต้องร่วมรัฐบาลกับ ‘ตู่-ป้อม’ เปิดใจเล่นการเมือง

เศรษฐา ให้สัมภาษณ์สื่อใหญ่อเมริกา ลั่นขอสละตำแหน่งนายกฯ ถ้าต้องร่วมรัฐบาลกับ ‘ตู่-ป้อม’ เปิดใจสาเหตุหันมาเล่นการเมือง ตั้งเป้านำไทยกลับสู่เวทีโลก

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์วอยซ์ออฟอเมริกา สื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่ครอบคลุมทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และออนไลน์กว่า 40 ภาษาทั่วโลก มีผู้รับชมและผู้อ่าน กว่า 236 ล้านคน เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่โพลหลายสำนักระบุว่า พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำอยู่ในขณะนี้ ว่า ตนขอสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากต้องร่วมรัฐบาลกับพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ทำรัฐประหารในปี 2557 หรือ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ

“ผมไม่เชื่อในการทำรัฐประหาร ผมไม่สามารถนึกภาพตัวเองทำงานร่วมรัฐบาล นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับพวกพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ได้ ผมอยากเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่แค่เพียงได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผมอยากเป็นนายกรัฐมนตรีที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐกิจและสังคมไทย หากสภาพแวดล้อมไม่อำนวยให้ผมสามารถทำได้ ผมยินดียอมสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า รู้จักกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาหลายสิบปี โดยทั้งสองครอบครัวต่างประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เป็นความรู้สึกสิ้นหวังที่ชักนำให้เข้าสู่การเมือง เวลาที่นั่งอยู่บนยอดปิรามิด ตนจะเฝ้ามองดูว่าคนทั่วไปเขาใช้ชีวิตกันยังไง ตนรู้สึกเศร้าใจกับสิ่งที่เห็น เพราะความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ทั้งในด้านการศึกษา ระบบสาธารณสุข และปัจจัยพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นในประเทศที่มีศักยภาพมากอย่างประเทศไทย

นายเศรษฐา กล่าวว่า แรงจูงใจที่กระตุ้นให้เข้าสู่การเมืองมากขึ้น คือ การที่ประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ซึ่งรายงานไอเอ็มเอฟระบุจีดีพีประเทศดิ่งลงถึง 6.1% ในปี 2563 ขณะเดียวกันผลสำรวจธนาคารโลกรายงานว่า 70% ของครัวเรือนประสบภาวะรายได้ลดลง และสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทย ก็เพราะพรรคมีหัวใจคือประชาชน พวกเขาได้ชักชวนให้มาร่วม จนในที่สุดก็มีความเห็นร่วมกัน

เมื่อถามว่า จะแก้ไขปัญหา 2 ประเด็น คือ กลุ่มทุนผูกขาด และ มาตรา 112 อย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ผ่านกระบวนการรัฐสภา ทั้งนี้ เราต้องมีความคาดหวังอยู่กับพื้นฐานของความเป็นจริง ตนไม่ได้เป็นศัตรูกับกลุ่มทุน แต่ต้องมั่นใจว่าจะสร้างโอกาสให้กลุ่มธุรกิจรายย่อยโตได้ ไม่ได้มาเพื่อทำร้ายกลุ่มทุน แต่มาเพื่อช่วยคนตัวเล็ก

“ส่วนในประเด็นความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ต่อ มาตรา 112 ผมยังไม่เคยมีโอกาสคุยกับพวกเขานานพอ ยังไม่แน่ใจว่าอะไรคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่โอเคหรือไม่โอเค ต้องหารือกัน ต้องพูดคุยกัน บางเรื่องอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่เป็นปัญหาก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดว่ากฎหมายปัจจุบันต้องแก้ไข ก็เป็นกระบวนการของรัฐสภา” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ตนไม่ใช่คนของนายทักษิณ โดยกระตือรือร้นที่จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของประเทศไทย ส่งเสริมสิทธิ LGBTQ+ รวมถึงการแต่งงานเพศเดียวกัน ขจัดการทุจริต และนำประเทศไทยกลับสู่เวทีโลก

“ประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาตลอด 5-8 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ในอาการโคม่า คุณต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อให้พวกเขากลับมายืนได้และสามารถกลับมาสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกครั้ง ผมต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถสร้างความแตกต่างได้ ต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างจริงจัง เราต้องออกไปคุยกับโลก เราต้องขายของให้ประเทศไทย เราต้องหาความได้เปรียบในการลงทุนในประเทศ และตีโจทย์ให้แตกว่าเราจะขายอะไรให้กับตลาดโลก” นายเศรษฐา กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ