ดร.สืบสาย บุญวีรบุตร นักวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว และ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการกีฬา ของทัพนักกีฬาไทย ในซีเกมส์ ครั้งที่ 32 เผยว่า หน้าที่ของนักจิตวิทยาจะแบ่งเป็นประจำศูนย์ไทยเฮาส์ กับออกไปหานักกีฬาตามสนามว่าเป็นอย่างไร นักกีฬาบางคน หรือบางชนิดกีฬาที่เคยมาหานักจิตวิทยาแล้วก่อนหน้านี้ เราก็จะติดตามผล ส่วนใครที่ยังไม่เคยมาก็จะคอยดูแลต่อเนื่องกันไปแม้จะกลับไปยังประเทศไทยแล้ว
ดร.สืบสาย เผยต่อว่า จริงๆแล้วเมื่อเราพูดถึงจิตวิทยาคือการจัดสรรวิธีคิดก่อน จากนั้นค่อยไปจัดการเรื่องอารมณ์ และถึงจะมีผลต่อการเล่นของเขา บางทีนักกีฬาหรือโค้ชมักจะเข้าใจผิดว่ากีฬาที่มีการต่อสู้จำเป็นต้องใช้จิตวิทยา แต่อยากจะบอกว่ากีฬาที่ต้องต่อสู้กับตัวเอง หรือเน้นความสวยงาม อย่างเช่นประเภทร่ายรำนี่แหละจำเป็นที่สุด เพราะเขาต้องทำให้ได้อย่างที่ซ้อม ผลจะออกมาเป็นอย่างไรอยู่กับตัวเองล้วนๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นกีฬาอะไร ประเภทไหนก็สมควรมาหานักจิตทวิทยาทั้งนั้น
“เรายังพูดกันอยู่เลยว่าอย่างกีฬาเทควันโด ยูยิตสู โววีนั่ม ฯลฯ มักจะส่งแต่นักกีฬาประเภทต่อสู้มาหา ซึ่งเราก็แนะนำไปว่ากีฬาประเภทร่ายรำ ก็มีผลมากๆ เพราะจิตวิทยาไม่ได้จัดการเรื่องอารมณ์อย่างเดียว แต่คือการจัดการเรื่องความคิดด้วย เราต้องคิดบวกก่อน ถึงจะไปจัดการเรื่องอารมณ์ต่อได้”
ดร.สืบสาย กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีหลายชนิดกีฬาที่เข้ามาหานักจิตวิทยา รวมถึงที่เราออกไปพบไม่ว่าจะเป็น มวย ตะกร้อ วอลเลย์บอล ซอฟต์เทนนิส โววีนั่ม ฯลฯ บางทีนักกีฬาก็กดดันตัวเอง เช่นเคยเป็นแชมป์มาก่อน หรือไม่ก็ถูกสมาคมหมายมั่นว่าเป็นมือหนึ่ง ต้องเล่นให้ได้ เราก็ช่วยให้เขาอยู่กับปัจจุบัน โฟกัสกับการแข่งขันตรงหน้า ปลุกความมั่นใจของเขาขึ้นมา
“ส่วนใหญ่แล้วนักกีฬาที่ไม่เคยมาหาเราจะเป็นโค้ชที่ส่งเคสเข้ามา อย่างไรก็ตามบางคนมีความรู้สึกกังวลอยากมาหานักจิตวิทยาแต่โค้ชไม่ให้มาก็มี เพราะไม่อยากให้ใครคิดว่านักกีฬาตัวเองบ้า ทั้งนี้ก็อยากจะให้ลองมองว่า การที่รับรู้ว่าเราไม่สบายใจ การมีคนอื่นมาช่วยฟัง ช่วยจัดสรรความคิดของเขาได้เป็นเรื่องที่ดี ไม่ต้องกลัวเสียศักดิ์ศรีมาคุยกันได้ อยากให้รู้ว่าจิตวิทยาไม่ใช่คนเสียสติ ไม่ได้ป่วย เพียงแค่ว่าจัดสรรความคิดของนักกีฬาได้ก็จะจบแล้ว”