โอลิมปิก เกมส์ คือมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ เพราะทุกคนมีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมกับหมกรรมนี้ ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน, เพศอะไร อายุเท่าใด ทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมในการร่วมมหกรรมกีฬานี้
อย่างไรก็ตาม ย้อนไปในอดีตทุกอย่างไม่ได้เป็นแบบปัจจุบัน เพราะสิทธิอันเท่าเทียมไม่เคยมีอยู่จริงในวงการกีฬา โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่ไม่มีพื้นที่ในสังคมนี้ จากการถูกมองข้าม ถูกมองว่าไม่เหมาะสมเรื่องความเป็นใหญ่ของอำนาจชาย
หากย้อนมองถึงอดีตดูรากฐานที่ทำให้ผู้หญิงได้รับโอกาสในการเล่นกีฬา ไม่ต่างจากเพศชาย หนึ่งในนั้นคือการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 1900 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ และเป็นรากฐานที่เริ่มทำให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น ในวงการกีฬา ซึ่งส่งผลดีมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ผู้หญิงกับกีฬา
หากย้อนเปิดตำราประวัติศาสตร์ศึกษาประเด็นทางเพศ สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้หญิงมีความเสียเปรียบทางโอกาสกว่าเพศชายมากเพียงใด
ไม่ต้องไปถึงวงการกีฬา เอาแค่เรื่องสิทธิพื้นฐาน เช่น การศึกษา, การมีบทบาททางการเมือง, โอกาสในสังคม ทุกอย่างเป็นรองเพศชายทั้งหมด เพราะภาพในอุดมคติของเพศหญิง มีหน้าที่เพียงแค่เป็นแม่บ้าน ทำงานบ้านรับใช้ครอบครัว ถูกตีกรอบในรูปแบบนี้มาอย่างยาวนาน
อำนาจของผู้หญิงเพิ่มขึ้นในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 18 ผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น ซึ่งรวมถึงการฝึกสอนด้านกีฬา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของการเข้าสังคม ในกลุ่มชนชั้นสูง
ถึงอำนาจของเพศหญิงถูกจำกัดเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำ แต่ผู้หญิงเริ่มต้นการมีบทบาทด้านกีฬาจากจุดนี้ ประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี, ฝรั่งเศส หรืออังกฤษ เริ่มมีการจับกุมเล่นกีฬาในหมู่หญิงชนชั้นสูง ตั้งเป็นชมรมเพื่อใช้กีฬาในแง่ของการสร้างความสุขให้กับร่างกาย ดูแลรูปร่างที่สวยงาม
ปลายยุคศตวรรษที่ 19 คือช่วงเวลาที่เพศหญิงเริ่มมีบทบาทจริงจัง กับการเล่นกีฬา เพราะกิจกรรมนี้ไม่ได้ถูกสงวนอยู่ในหมู่หญิงชนชั้นนำ แต่แพร่กระจายไปยังทุกชนชั้น และในหลายพื้นที่ ไม่ได้จำกัดแค่ยุโรปตะวันตกอีกต่อไป
กอล์ฟ, เทนนิส, ขี่ม้า, ยิงธนู, ว่ายน้ำ หรือการเล่นสกี กลายเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมจากผู้หญิง รวมถึงกีฬาที่มีความเป็นชายสูง อย่าง ฟุตบอล หรือ เบสบอล เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเล่นกีฬาเหล่านี้ ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างสำคัญในช่วงเวลานั้น ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง คือ ผู้ชายเล่นกีฬาเพื่อการแข่งขัน แต่ผู้หญิงเล่นกีฬาเพื่อให้ร่างกายของตัวเองสวยงาม หรือเล่นเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นเหมือนกับกรอบสเตอริโอไทป์ว่า ผู้หญิงไม่สามารถที่จะแข่งขันกีฬา หรือเล่นกีฬาได้ดีเท่าเพศชาย
เนื่องจากการแข่งขันกีฬาในตอนนั้น ภาพของการแแยกเพศเพื่อแข่งขันกีฬา แทบไม่เกิดขึ้นในสังคม … ถ้าจะแข่งกีฬา ก็ต้องแข่งด้วยกัน ซึ่งสังคมย่อมมองว่า เพศหญิงไม่มีทางมีความแข็งแกร่งเท่าเพศชาย จึงไม่มีทางเล่นกีฬาเก่งเท่าเพศชาย ดังนั้นเพศหญิงไม่ควรแข่งขันกีฬา เพราะไม่ใช่กิจกรรมที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้
แน่นอนว่า ผู้หญิงที่รักการเล่นกีฬา ล้วนต้องการแข่งขันกีฬาเพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง อย่างไรก็ตาม พวกเธอต้องพบเจอกับความยากลำบากนานาชนิด เช่น ตั้งทีมกีฬาแต่ไม่มีโค้ช เพราะมีใครมาฝึกสอน, ห้ามแข่งในการแข่งขันอาชีพ ต้องไปแข่งในรายการสมัครเล่น เป็นต้น
ข้อดี อย่างหนึ่งคือ ผู้หญิงมีความมุ่งมั่นอันแรงกล้าในการพิสูจน์ตัวเองว่า ไม่ด้อยไปกว่าเพศชาย จึงทำให้สังคมค่อย ๆ ยอมรับเพศหญิงในวงการกีฬามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดันของเพศหญิงครั้งแรก ในปี 1884, การแข่งขันเทนนิสยูเอส โอเพน ครั้งแรก ในปี 1889
อย่างไรก็ตาม สำหรับบางมหกรรมกีฬา โอกาสของผู้หญิงยังคงถูกปิดกั้น หนึ่งในนั้นคือ “โอลิมปิก เกมส์” ซึ่งถูกนำมาจัดอีกครั้ง หรือเป็นโอลิมปิกครั้งแรกในยุคสมัยใหม่ เมื่อปี 1896 ที่ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ
เหตุจากโอลิมปิก 1896
โอลิมปิก เมื่อปี 1896 ไม่ได้ยิ่งใหญ่แบบทุกวันนี้ แต่เป็นการแข่งขันที่มีชาติเข้าร่วมเพียง 14 ประเทศ ซึ่ง 12 จาก 14 ประเทศ มีเพียง 2 ประเทศที่ข้ามมหาสมุทรมาแข่งขัน นั่นคือ สหรัฐอเมริกา และชิลี
ถึงจะเป็นการแข่งขันเล็ก ๆ แต่เป้าหมายของทัวร์นาเมนต์นี้ คือการดึงสุดยอดนักกีฬาให้เข้ามาประชันฝีมือให้มากที่สุด เหมือนกับการแข่งขันโอลิมปิก ในยุคกรีกโบราณ ซึ่งไม่มีผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขัน ด้วยเหตุนี้นักกีฬาหญิงจึงไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้
Photo : olympics.com
คณะกรรมการโอลิมปิกได้แถลงการณ์เหตุผลที่ไม่ให้ผู้หญิงเข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งสิ้น 4 เหตุผล นั่นคือ ผู้หญิงไม่เหมาะกับการเล่นกีฬา, ผู้หญิงไม่มีความสามารถในการเล่นกีฬา, ผู้หญิงจะทำให้การแข่งขันกีฬาน่าเบื่อ และการให้ผู้หญิงเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ คือเรื่องที่ไม่ถูกต้องในแง่ของศีลธรรม
ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้หญิงคนหนึ่งที่หวังตบหน้าวงการกีฬา เธอชื่อว่า สตามาตา เรบิติ (Stamata Revithi) ซึ่งเป็นนักวิ่งมาราธอน แต่ไม่ได้เข้าร่วมโอลิมปิก เกมส์ เพราะกฎที่ห้ามผู้หญิงเข้าร่วม ทั้งที่เธอเชื่อว่าสามารถทำได้ดีไม่แพ้นักวิ่งผู้ชาย
Photo : uk.runningheroes.com
หญิงสาวรายนี้ตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการ นั่นคือวิ่งตามหลังกลุ่มนักแข่งจริง เป็นเวลา 1 วัน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถแข่งขันกีฬาวิ่งมาราธอน ซึ่งแสดงถึงความอดทน, พละกำลัง และความสามารถในฐานะนักกีฬาได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย
น่าเสียดายที่เธอวิ่งได้ไม่ครบเส้นทาง เพราะในสเตจสุดท้าย ผู้จัดโอลิมปิกไม่อนุญาตให้เธอวิ่งเข้าสนาม พานาธิเนียโก สเตเดียม ซึ่งเป็นจุดเส้นชัยของการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม การกระทำของเรบิติได้ทิ้งเชื้อไฟบางอย่างเอาไว้ ซึ่งจะแสดงออกมาอีกครั้ง ในอีก 4 ปีถัดมา
ครั้งแรกของหญิงสาว กับโอลิมปิก
หลังจากการแข่งขันในปี 1896 จบลง แรงผลักดันต่อการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถแข่งขันในโอลิมปิก เกมส์ จึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะว่าต้องการร่วมแข่งขันในรายการนี้ แต่เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมทางเพศ มีสิทธิ์ในการทำกิจกรรมไม่ต่างจากเพศชาย
โอลิมปิก เกมส์ ในปี 1900 ยังคงไม่ต่างจาก 4 ปีก่อนหน้า นั่นคือเป็นเพียงการแข่งขันกีฬาเฉพาะกลุ่ม กระจุกอยู่แค่ชาติในยุโรป และเต็มไปด้วยปัญหามากมาย ทั้งในแง่ของการจัดการ, การทะเลาะเบาะแว้งของผู้มีอำนาจในวงการกีฬา แบ่งฝ่ายจนวุ่นวายไปหมด
Photo : The Olympic Museum @olympicmuseum
สุดท้ายการแข่งขันในปี 1900 จึงไม่ใช่การแข่งขันเพื่อหานักกีฬาที่แข็งแกร่งที่สุด เหมือนกับในปี 1896 หรือยุคกรีกโบราณ แต่เป็นเพียงการแสดงเพื่อความบันเทิงส่วนหนึ่งของงาน 1900 Paris Exposition เทศกาลที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีผู้ร่วมงานถึง 50 ล้านคน
กรุงปารีสถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่จัดงานรื่นเริง ด้วยผู้คนจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้าสู่งานเทศกาล ณ เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอันเป็นส่วนหนึ่งของงานครั้งนั้น จึงต้องหาทางดึงคนให้หันมาสนใจงานให้มากที่สุด ไม่ให้น้อยหน้ากิจกรรมประเภทอื่น
หากพูดว่า โอลิมปิก 1900 ถูกเปลี่ยนลักษณะงานให้เป็น “สปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์” คงไม่ผิดนัก คณะผู้จัดงานพยายามหาแรงดึงดูดหลายอย่าง เพื่อให้เป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ ทั้งการเพิ่มจำนวนชาติที่เข้าแข่งขัน รวมถึงเพิ่มประเภทกีฬา ไม่ว่าจะเป็น ยิงธนู, คริกเก็ต, ขี่ม้า, ฟุตบอล, กอล์ฟ, โปโล, พายเรือ, รักบี้ ล้วนถูกเพิ่มเข้ามาในการแข่งขันครั้งนี้ เพื่อดึงดูดผู้ชมเข้ามาติดตามการแข่งขัน
แม้จะมีการขยายสเกลงานให้ใหญ่ขึ้นจากปี 1896 แต่ดูเหมือนผู้จัดการจะต้องการสร้างจุดเด่นของการแข่งขันที่ต่างออกไป และหนึ่งในวิธีที่ตอบโจทย์คือการอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้
ชาติหัวก้าวหน้า อย่าง สหรัฐอเมริกา คือโต้โผของการออกไอเดียนี้ เนื่องจากในเวลานั้น หญิงชาวอเมริกันหันมาเล่นกีฬามากขึ้น จนพวกเขามั่นใจได้ว่า หากมีการแข่งขันกีฬาของผู้หญิง พวกเธอจะทำได้ดี และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติได้
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ไอเดียนี้ย่อมมีผู้ไม่เห็นด้วย หลายคนยังมองว่าผู้หญิงมีร่างกายไม่เหมาะกับการเล่นกีฬา หรือกลุ่มคนอนุรักษ์นิยม มักยกความเห็นว่า ด้วยวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน กีฬาไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเพศหญิง
หลังจากต่อสู้กัน ระหว่างแนวคิดที่แตกต่าง สุดท้ายแล้ว ฝ่ายสนับสนุนให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเล่นกีฬาในโอลิมปิกเป็นฝ่ายชนะ เพื่อให้มหกรรมกีฬาครั้งนี้ เป็นการเฉลิมฉลองช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ ในประวัติศาสตร์มนุษย์ ซึ่งไม่สามารถตัดผู้หญิงออกจากหน้าประวัติศาสตร์ได้
คณะกรรมการโอลิมปิกได้พูดถึงการอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วมการแข่งขันว่า เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิง และผู้ชายต้องไม่ต่างกัน รวมถึงโอกาสในการเล่นกีฬา
Photo : Olympics @Olympics
ถึงจะอ้างเรื่องความเท่าเทียม แต่ในความเป็นจริงของปี 1900 ผู้หญิงยังคงถูกจำกัดโอกาสในการเล่นกีฬา ผ่านการแข่งขันครั้งนี้ โดยมีชนิดกีฬาเพียง 5 ชนิดเท่านั้น ที่ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ทำการแข่งขัน นั่นคือ เทนนิส, กอล์ฟ, โครเก็ต, ขี่ม้า และ เรือใบ ขณะที่ว่ายน้ำ กีฬายอดนิยมของผู้หญิง กลับไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการแข่งขัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีมือที่มองไม่เห็นจำนวนมาก พยายามจะขัดขาผู้หญิงไม่ให้ร่วมการแข่งขันครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข่งขันกีฬากอล์ฟ และเทนนิส ของผู้หญิงที่ได้รับความสนใจอย่างมาก จากการแข่งขันครั้งนั้น
การแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ หากมองในภาพของปี 1900 การเข้าร่วมของผู้หญิงไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากนัก เพราะความสนใจยังคงอยู่กับกีฬาของผู้ชาย ซึ่งยังคงเป็นแบบนั้นตลอดหลายสิบปีหลังจากนั้น
Photo : rediff.com
แต่หากเรามองเข้าไปถึงปัจจุบัน ณ ปี 2021 การมีบทบาทของผู้หญิงในมหกรรมกีฬาระดับโลก คือการสร้างรากฐานเป็นเมล็ดพันธ์อ่อน ที่เริ่มสร้างการเติบโตให้กับเพศหญิงในวงการกีฬา
เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมา ผู้หญิงค่อย ๆ ได้รับการเปิดโอกาสให้ลงแข่งขันกีฬาอื่น ๆ ในโอลิมปิก เกมส์ เช่น ว่ายน้ำ, ยิมนาสติก รวมไปถึงการเกิดมหกรรมกีฬา โอลิมปิก เกมส์ ของผู้หญิงโดยเฉพาะ เมื่อปี 1921 ในชื่อ 1921 Women’s Olympiad ซึ่งมีนักกีฬาหญิงกว่า 100 คนเข้าร่วมการแข่งขัน และถูกจัดต่อเนื่องหลังจากนั้น เป็นระยะเวลา 4 ปีติดต่อกัน
Photo : British Pathé
การจัดการแข่งขันครั้งนั้น คือการแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถแข่งขันในมหกรรมกีฬานานาชาติได้เทียบเท่ากับผู้ชาย ซึ่งความเชื่อมั่นทั้งหมดได้เริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่โอลิมปิก เกมส์ 1900 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
กว่าจะมาถึงวันนี้ ผู้หญิงต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้มีที่ยืนอยู่ในโลกกีฬา ซึ่งโอลิมปิก เกมส์ 1900 คือหนึ่งในก้าวสำคัญที่สร้างรากฐาน ความเท่าเทียมทางเพศในวงการกีฬา ลดความเหลื่อมล้ำให้น้อยลง อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้