ซิโนแวค vs ซิโนฟาร์ม เหมือนและต่างกันอย่างไร?

Home » ซิโนแวค vs ซิโนฟาร์ม เหมือนและต่างกันอย่างไร?
ซิโนแวค vs ซิโนฟาร์ม เหมือนและต่างกันอย่างไร?

นอกจากวัคซีนซิโนแวคแล้ว บ้านเรากำลังจะได้วัคซีนซิโนฟาร์มเข้ามาเสริมเพิ่มเติมสำหรับฉีดป้องกันโควิด-19 ในเวลาไม่นานนัก โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมนำเข้า และจัดจำหน่ายวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” อีกหนึ่งตัวเลือกวัคซีนสำหรับคนไทยที่สนใจ

วัคซีนซิโนแวค และซิโนฟาร์ม มาจากจีนเหมือนกัน มีความเหมือน และแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

  • รู้จัก “ซิโนฟาร์ม” วัคซีนโควิด-19 ทางเลือกใหม่ที่กำลังจะเข้าไทย
  • เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ชี้แจง 5 ข้อ ปมจัดหาวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม”
  • อัปเดต “วัคซีนโควิด-19” มีกี่ชนิด ตัวไหนเข้าไทยบ้าง

ซิโนแวค vs ซิโนฟาร์ม เหมือนและต่างกันอย่างไร?

ซิโนแวค

ชื่ออย่างเป็นทางการ: วัคซีนโคโรนาแวค (​CoronaVac)

ผลิตโดย: ซิโนแวก ไบโอเทค (Sinovac Biotech) บริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติจีน

ชนิดของวัคซีน: Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย

อายุที่ฉีดได้: ในช่วงแรกอนุญาตให้ฉีดได้เฉพาะอายุ 18-59 ปี แต่หลังเดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติอนุญาตให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคในคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้ เพื่อให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้าถึงวัคซีนโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้สำหรับผู้สูงอายุที่สามารถเข้ารับวัคซีนซิโนแวคได้หรือไม่นั้น อาจให้แพทย์พิจารณาเป็นรายๆ ไป

จำนวนเข็ม: 2 เข็ม เข็มแรกห่างจากเข็มที่ 2 ราว 2-4 สัปดาห์

ผลข้างเคียงที่พบ: ในไทยพบอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมองถึง 6 ราย แต่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่ามาจากการฉีดวัคซีนจริงๆ หรือไม่ นอกจากนี้ยังพบอาการเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไปของผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนทั่วไป เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ผื่นผิวหนัง เหนื่อยล้า ท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส: 67%

ประสิทธิภาพในการลดอาการรุนแรงถึงชีวิต: 85%

ประสิทธิภาพในการลดการแพร่เชื้อ: ไม่พบข้อมูล

ประเทศที่ฉีด: 25 ประเทศ ได้แก่ จีน ไทย แอลเบเนีย อาเซอร์ไบจาน บราซิล กัมพูชา ชิลี โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ อียิปต์ เอลซัลวาดอร์ ฮ่องกง อินโดนิเซีย ลาว มาเลเซีย เม็กซิโก ปากีสถาน ปานามา ฟิลิปปินส์ ตูนีเซีย ตุรกี ยูเครน อุรุกวัย ซิมบับเว

สถานะการรับรองโดย WHO: อยู่ในระหว่างการพิจารณา

ข้อควรระวัง: สามารถฉีดให้กับคนอายุ 18-59 ปีได้อย่างปลอดภัย แต่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ควรให้แพทย์พิจารณาถึงความพร้อมของร่างกายก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค นอกจากนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ควรหลีกเลี่ยงในผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน เพราะอาจมีส่วนจากฮอร์โมนได้

 

ซิโนฟาร์ม

ชื่ออย่างเป็นทางการ: วัคซีน BBIBP-CorV

ผลิตโดย: บริษัท Beijing Institute of Biological Product ที่ปักกิ่ง และ บริษัท Wuhan Institute of Biological Product ที่อู่ฮั่น

ชนิดของวัคซีน: Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย

อายุที่ฉีดได้: อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป แต่ WHO ระบุว่า ยังไม่พบข้อมูลความปลอดภัยของผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีมากนัก

จำนวนเข็ม: 2 เข็ม เข็มแรกห่างจากเข็มที่ 2 ราว 3-4 สัปดาห์

ผลข้างเคียงที่พบ: ยังไม่พบผลข้างเคียงที่อันตรายรุนแรง พบเพียงอาการที่พบได้ทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดบริเวณที่ฉีด คลื่นไส้ มีไข้ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นต้น

ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส: 78.1-79.34%

ประสิทธิภาพในการลดอาการรุนแรงถึงชีวิต: 100%

ประสิทธิภาพในการลดการแพร่เชื้อ: ไม่พบข้อมูล

ประเทศที่ฉีด: วัคซีนซิโนฟาร์มจากบริษัทที่อู่ฮั่น มีใช้ที่จีนที่เดียว ส่วนที่ผลิตโดยบริษัทที่ปักกิ่ง ใช้แล้วใน 42 ประเทศ ได้แก่ จีน อาร์เจนตินา บาห์เรน บังคลาเทศ เบลารุส รัฐพหุชนชาติแห่งโบลิเวีย บรูไน กัมพูชา แคเมอรูน คอโมโรส อียิปต์ อิเควทอเรียลกินี กาบอง กายอานา ฮังการี อิหร่าน อิรัก จอร์แดน คีร์กีซสถาน ลาว เลบานอน มัลดีฟส์ มองโกเลีย มอนเตรเนโกร โมร็อกโก โมซัมบิก นามิเบีย เนปาล ไนเจอร์ นอร์ทมาซิโดเนีย ปากีสถาน เปรู คองโก เซเนกัล เซอร์เบีย เซเชลส์ สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน โซมาเลีย ศรีลังกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐเวเนซุเอลา ซิมบับเว

สถานะการรับรองโดย WHO: วัคซีนซิโนฟาร์มที่ผลิตโดยบริษัทจากปักกิ่ง ได้รับการรับรองจาก WHO โดยได้จดทะเบียนให้ใช้ใน​กรณีฉุกเฉิน แต่วัคซีนซิโนฟาร์มที่ผลิตโดยบริษัทในอู่ฮั่น ยังไม่ได้รับการรับรองจาก WHO

ข้อควรระวัง: ยังถือเป็นวัคซีนที่มีข้อมูลหลังเริ่มฉีดให้กับคนทั่วโลกได้น้อยเมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นๆ และยังไม่มีข้อมูลผลของการฉีดวัคซีนแบบผสมกับวัคซีนอื่นๆ นอกจากการเริ่มลองฉีดซิโนฟาร์มกับซิโนแวคในประเทศจีน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ