โอลิมปิก คือมหกรรมกีฬาที่คัดเอานักกีฬาเก่งๆทั้งหมดที่มีบนโลกใบนี้ขึ้นมาชิงความเป็นหนึ่ง เพื่อบอกว่าใครคือ “เบอร์ 1 ของโลก” ที่แท้จริง
หากจะมีมนุษย์สักคนที่ได้รับสิทธิ์การประทับตราที่กลางหลังว่า “เบอร์ 1 ตัวจริง” คน ๆ คงหนีไม่พ้น ไมเคิล เฟลป์ส อดีตนักว่ายน้ำชาวอเมริกัน ผู้กวาดเหรียญทองไปทั้งหมด 23 เหรียญ จากการแข่งขันโอลิมปิก 5 ครั้ง
ยากมากที่จะมีใครสักคนมาทำลายสถิติอันยิ่งใหญ่และน่าเหลือเชื่อของเขา … ทุกครั้งที่เขาลงแข่งขันมันเหมือนเป็นของง่าย แค่กระโดด ว่าย และ แตะขอบสระ เท่านั้นเขาก็ได้เหรียญทอง
แต่ความจริงและเบื้องหลังนั้นต่างกันสุดขั้ว ภายในราชาเจ้าสระ และมนุษย์เหรียญทอง ไมเคิล เฟลป์ส ผ่านอะไรมาบ้าง และต้องใช้พลังกายและใจขนาดไหนกว่าจะมาถึงจะจุดนี้? ติดตามที่นี่
ลูกคุณมีปัญหา
“ทุกทีเลย ลูกของคุณมีปัญหา เขาไม่เคยอยู่นิ่ง และเขากำลังทำให้สมองของฉันกำลังจะระเบิด” คุณครูระดับชั้นอนุบาลคนหนึ่ง พูดกับผู้ปกครองของเด็กชายคนหนึ่งที่มีปัญหาที่สุดในห้องเรียน … เธอทนไม่ไหว และรู้สึกทรมานที่ต้องเจอกับนักเรียนในแบบที่เธอไม่เคยเจอมาก่อนตลอดชีวิตการทำงาน
“เด็กซนคือเด็กฉลาด” คำนี้เราได้ยินกันบ่อยแต่มันอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป เด็กบางคนซนมากเพราะมาจากการเลี้ยงดู และเด็กบางคนอย่าง ไมเคิล เฟลป์ส นั้นก็ซนเพราะมีอาการป่วย … เขาป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น สั้นขนาดที่ว่าไม่สามารถนั่งอยู่กับที่ได้เกิน 3 วินาที และเพราะแบบนั้นเขาจึงเป็นตัวแสบประจำชั้นเรียน ที่ไม่มีคุณครูคนไหนทนไหวอีกต่อไป
เหตุผลก็เพราะเขาชอบเรียกร้องความสนใจ ต้องการเป็นศูนย์กลางของห้องเรียน บางครั้ง เฟลป์ส ตั้งใจเปิดเตาแก๊สในการทดลองคาบวิทยาศาสตร์แบบหมุนหมดรอบเอาไว้ เพื่อให้กลิ่นของแก๊สออกมากวนเพื่อน ๆ จนเรียนไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีวีรกรรมสุดแสบอีกมากมายที่เกิดขึ้นกับ เฟล์ปส์ ในช่วงวัยเด็กของเขา อาทิ การแทรกขึ้นเวทีออกไปเต้นท่าเต้นพิเรนทร์ ๆ ขณะที่กำลังมีกิจกรรมแสดงความสามารถของคนอื่น ๆ เป็นต้น
“แค่ให้นั่งเฉย ๆ ก็ทำไม่ได้แล้ว ไม่รู้ว่าทำไมตอนนั้นมันจึงยากเย็นกับผมนัก ผมโฟกัสและจับจุดกับอะไรไม่ได้เลย ผมแค่รู้สึกหลายสิ่งรอบตัวมันปกติเกินไป ผมต้องเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งให้ทุกคนมาสนใจผม” เฟลป์ส กล่าว
ไม่มีใครสอน เฟลป์ส ได้ เพราะอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เขาต้องพบแพทย์และเข้าบำบัดเพื่อฝึกสมาธิอย่างจริงจัง เขาพูดเร็วมากเกินไปเวลาสนทนากับคนอื่น ๆ และที่สำคัญเขาจะไม่สบตาเมื่อมีใครพยายามสื่อสารกับเขาด้วย
สำหรับครอบครัว เฟลป์ส นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขามีลูก ๆ ด้วยกัน 3 คน โดยมี ไมเคิล เป็นลูกชายคนเล็ก สิ่งสำคัญคือความระหองระแหงของพ่อและแม่ ที่นำไปสูการแยกทางกัน และทำให้แม่ของเขาต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำงานด้วย เลี้ยงลูกด้วย และในกรณีของ เฟลป์ส เธอต้องพยายามหาทางรักษาให้ลูกชายหายและกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ด้วย
“แม่ของผมเลี้ยงดูพวกเราทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว ผมและพี่สาวอีก 2 คน ถ้าหากจะถามว่าใครคือตัวอย่างของการทำงานหนัก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสำหรับผม ภาพจำที่มีต่อแม่นั้นชัดเจนมาก เธอทั้งทำงานหนักและทุ่มเทเพื่อลูก ๆ อย่างถึงที่สุด”
หากอะไรคือประกายความหวังที่เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง แน่นอนว่าคนนั้นจะต้องเป็นแม่ของเขา เดบาราห์ เฟลป์ส ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกชายกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ เธอเอา เฟลป์ส ไปลองเรียนและเข้าคอร์สเพื่อฝึกสมาธิหลาย ๆ จนกระทั่งมาเจอยาวิเศษ ที่ไม่ต้องเอาเข้าปาก แต่แค่กระโดดลงไปในนั้น ลูกชายของเธอก็จะได้ชีวิตใหม่แล้ว
พี่สาวทั้งสองคนของ ไมเคิล เฟลป์ส เป็นสมาชิกของชมรมว่ายน้ำเยาวชน โดยทั้งคู่มีดีกรีระดับแชมป์ของรัฐเลยทีเดียว
เดบาราห์ รู้ว่ากิจกรรมนี้ทำให้ลูกสาวของเธอเติบโตมาเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี ดังนั้นเธอจึงฝาก ไมเคิล ไว้กับชมรมดังกล่าว เพื่อ “ลองดู” เผื่อว่าปาฏิหาริย์จะเกิด เพราะดูแล้วในวันแรกที่ ไมเคิล เฟลป์ส มาลงสระน้ำพร้อม ๆ กับพี่สาวของเขา เขาก็ออกอาการต่อต้านเหมือนหลาย ๆ กิจกรรมที่เคยผ่านมา
หากเป็นหนังสักเรื่อง เฟลป์ส คงกระโดดลงน้ำตูมเดียวแล้วว่ายได้เร็วจี๋ราวกับเป็นทักษะจากพระเจ้า แต่นี่คือโลกแห่งความจริง เก่งแต่เกิดไม่มีจริง ถ้าไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีทางที่ใครสักคนจะหยิบจับสิ่งไหนแล้วเก่งในทันที
“คุณคิดว่าพอเห็นสระว่ายแล้ว น้ำทำให้ผมกลายเป็นอิสระเหมือนกับปลาโลมาจนผมหมกมุ่นอยู่กับมันเป็นวันเป็นคืนเหรอ ? บ้าแล้ว ใครจะไปทำอย่างนั้น บอกตรง ๆ พอโดดไปตูมแรก ผมพูดได้เลยว่าผมเกลียดน้ำสุด ๆ เกลียดขนาดไหนก็เอาเป็นว่าผมกรีดร้องจนคนในสระกระเจิงไปหมด ผมเหวี่ยงแว่นตาว่ายน้ำทิ้งสุดแรงเกิดเพื่อแสดงให้รู้ว่า เอาผมออกไปจากที่นี่ … ด่วนเลย”
ถ้าจะเอาเด็กแบบ เฟลป์ส ให้อยู่ ก็ต้องพยายามกันหน่อย แม้เขาจะฟาดงวงฟาดงาขนาดนั้น แต่โชคดีที่แม่ของเขาพอรู้ทางอยู่บ้าง เธอปล่อยให้ เฟลป์ส ร้องไปก่อน และจากนั้นเธอก็พาเขามาที่สระว่ายน้ำทุกวัน ตามกลอุบายที่ต้องมาส่งพี่สาวของเขาทั้งสองคน จากนั้น เฟลป์ส ก็เริ่มหยุดร้องและรู้สึกว่าเขาน่าจะทำอะไรกับน้ำได้มากกว่านั้น … เฟลป์ส พบว่าการอยู่ในน้ำทำให้เขาสบายใจและรู้สึกเป็นอิสระในภายหลัง และไม่นานนักจากเด็กที่เกลียดสระน้ำ เขาก็กลายเป็นคนแรกที่กระโดดขึ้นรถหากแม่บอกว่าวันนี้เราจะไปสระว่ายน้ำกัน
“พอได้ลองเริ่ม ๆ หัดดู ผมก็พบอิสระบางอย่าง … ผมพัฒนาทักษะในการว่ายน้ำได้ไวมาก เพราะไม่มีที่ไหนทำให้ผมช้าลงได้แบบนี้ ครั้งแรกในชีวิตเลยที่ผมรู้สึกว่าผมสามารถควบคุมตัวเองได้” เฟลป์ส กล่าวย้อนไปในอดีต
เฟลป์ส เริ่มหัดว่ายน้ำตอน 7 ขวบ และ 3 ปีหลังจากนั้นเขาเป็นแชมป์ระดับเยาวนของประเทศ ร่างกายที่ไม่หยุดนิ่งทำให้เขาเร็วกว่าใครเมื่ออยู่ในน้ำ แชมป์เยาวชนทำให้เขามองไกลไปถึงขั้นการเป็นตัวทีมชาติ และไปแข่งขันในโอลิมปิก เฟลป์ส ฝันหวานไว้อย่างนั้น จนกระทั่งเขาได้พบกับชายผู้ที่เดินมาบอกว่าเขา “ยังขาดอีกเยอะ” หากไปจะถึงที่ฝันไว้
ชายคนนั้นท้าทาย ไมเคิล เฟลป์ส และบอกว่าเขาจะช่วยให้ เฟลป์ส บรรลุความฝันที่คิดไว้ เขาคนนั้นชื่อ บ็อบ โบว์แมน โค้ชสอนว่ายน้ำที่มาพร้อมสัญญาปีศาจ … ข้อแลกเปลี่ยนที่ บ็อบ ต้องการจาก เฟลป์ส คือ “ชีวิต”
ทิ้งชีวิต.. ยอมได้ไหม?
“ไอ้หนู … บางส่วนของแกบอกฉันว่าแกมีหวังที่จะทำลายสถิติโลก แต่มันจะเริ่มเป็นจริงก็ต่อเมื่อแกมากับฉัน จังหวะการว่ายของแกดูแล้วมันมีดี ตอนนี้แกได้แต่คิด อีกไม่นานหรอกแกทำได้จริงแน่” บ็อบ โบว์แมน กล่าวเช่นนั้น
สิ่งที่ บ็อบ ต้องการจาก เฟลป์ส คือ “ทิ้งชีวิตวัยรุ่นซะ” เพราะต่อจากนี้บทเรียนที่เขามอบให้ คือตำราที่เขากล้าการันตีว่า เฟลป์ส จะไปถึงแชมป์โลกได้แน่ หากทำและเชื่อฟังในสิ่งที่เขาพูด
“นี่คือข้อตกลง หากแกอยากประสบความสำเร็จ แกต้องตื่นแต่เช้าทุกวัน พร้อมกับวางภารกิจในแต่ละวันให้ชัดเจน และแน่นอน แผนงานที่ฉันวางไว้จะโจมตีใส่แกในแบบที่แกไม่อยากจะเชื่อ และในท้ายที่สุดของวัน เราจะมาดูกันว่าสิ่งที่แกได้ไปในวันนี้ สอดคล้องกับแผนการระยะยาวที่แกวางไว้หรือเปล่า” บ็อบ กล่าวกับ เฟลป์ส
เฟลป์ส เองแม้จะยังเด็ก แต่ความฝันของเขานั้นชัดเจนเหลือเกิน มีเด็กไม่กี่คนที่รู้ตัวว่าชีวิตของพวกเขาเกิดมาเพื่ออะไร และ เฟลป์ส เป็นหนึ่งในนั้น การเจอกับ บ็อบ เปลี่ยนให้ เฟลป์ส เป็นเด็กที่มีระเบียบวินัยมากกว่าที่เคยเป็นหลายเท่า สภาพจิตใจของเขาแข็งแกร่งขึ้น และเขาก็โดนฝึกให้ทำบางสิ่งที่ไม่อยากทำนั่นคือ “การนั่งนิ่ง ๆ” และ “หัดพูดคุยกับคนอื่นบ้าง”
ไม่นานนัก บ็อบ โบว์แมน ก็เปลี่ยน ไมเคิล เฟลป์ส ได้เรียบร้อย หลังจากคุยกันรู้เรื่องแล้ว บ็อบ สร้างตารางการฝึกในแบบของเขาเอง ซึ่งโปรแกรมแบ่งออกเป็น 2 ช่วง นั่นคือช่วงที่โรงเรียนเปิดทอม และ ช่วงที่ปิดเทอม (ซัมเมอร์) หรือเรียกง่าย ๆ ว่าทุกวันของ ไมเคิล เฟลป์ส ต้องหายใจเข้าหายใจออกเป็นการว่ายน้ำโดยไม่มีหยุดพัก
รูปแบบตารางโดยคร่าว ๆ ของ บ็อบ คือ การฝึกความแข็งแกร่ง, การฝึกความอึดของร่างกาย, การเพิ่มคุณภาพในการว่าย, การใส่เทคนิคพิเศษที่คิดค้นขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งจุดนี้นักกีฬาแต่ละคนจะใช้เทคนิคที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสรีระและความถนัดของแต่ละคน
“ผมให้เขา (เฟลป์ส) ร่างวิสัยทัศน์ของตัวเองใส่ไว้ในสมุด สิ่งที่ผมอยากให้เขาเขียนลงไปคือเป้าหมายเบื้องต้น (อยากได้อะไรจากการฝึก) ถ้าเขามีเป้าหมาย เขาจะเริ่มรู้ว่าอะไรสำคัญ อะไรสามารถเกื้อหนุนกันได้ ผมพยายามสอนให้เขาเป็นเลิศด้านสภาวะจิตใจ มีร่างกายที่พิเศษในแบบที่ไม่มีใครเหมือน จากนั้นเราจะพูดถึงเป้าหมายระยะยาว และเป้าหมายสูงสุด ซึ่งจุดนี้ผมย้ำกับเขาว่าอย่าก้าวกระโดดหวังอะไรไกลเกินกำลัง เพราะมันอาจจะทำให้เขามีแรงผลักดันไม่พอก็ได้” บ็อบ ว่าต่อ
ถามว่า เฟลป์ส ชอบบทบาทโค้ชอย่าง บ็อบ หรือไม่ แรกเริ่มเขาไม่ได้ชอบอะไรนัก เขาคิดว่าสไตล์การทำงานไม่เข้ากัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขายอมรับเกี่ยวกับเรื่องการสอนของ บ็อบ ที่เน้นเรื่องทัศนคติ และมีจุดแข็งตรงจิตวิทยา บ็อบ พูดกับเขาตรง ๆ เสมอ และหนึ่งในคำที่บ็อบพูดกับเขาคือ “แกจะทำลายสถิติโลก” ซึ่งแน่นอน ไมเคิล เฟลป์ส เชื่อเต็มหัวใจหลังจากได้เป็นลูกศิษย์เอกของ บ็อบ
“บ็อบกับผมดูเหมือนจะเป็นคนละขั้วนะ ผมเป็นไอ้งั่ง (Goofball) เขาเป็นเหมือนผู้คุมคนงานจอมโหด (Task Master) … แต่ที่ต้องยอมคือ บ็อบ เป็นคนที่ตรงไปตรงมา เขาพูดแบบไหนเขาทำแบบนั้น เขาขัดเกลาพรสวรรค์และเพิ่มทัศนคติที่ดีให้ผม ทุกครั้งที่ผมเริ่มรู้สึกแย่ เขาจะบอกผมเสมอว่า ‘ไอ้หนู อย่าลืมว่าแกจะได้โอกาสในแบบที่เด็ก ๆ คนอื่นไม่มีวันได้รับ'” เฟลป์ส ว่าเช่นนั้น
หลังจากนั้นคุณก็รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้นเราจะมาสรุปเร็ว ๆ ว่าอะไรเกิดขึ้นกับ ไมเคิล เฟลป์ส … เขาเก่งที่สุดในประเทศ ชนะรุ่นจูเนียร์ทุกปี จนกระทั่งอายุ 15 เขาลงแข่งขันในโอลิมปิก 2000 ที่ซิดนี่ย์ และจากนั้นเป็นต้นมา โอลิมปิก ทั้งหมด 5 สมัย คิดเป็นช่วงเวลาทั้งหมด 20 ปี มีแค่ครั้งแรกเท่านั้นที่ ไมเคิล เฟลป์ส มาลงแข่งขันและไม่ได้รางวัล
เฟลป์ส กลายเป็นโคตรคนยิ่งกว่าที่ บ็อบ เคยคาดหมายไว้ เพราะเขาไม่ใช่แค่ได้เหรียญทองเท่านั้น แต่เป็นการคว้าเหรียญทองด้วยจำนวนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิกตลอดกาล คนเดียวฟาดไป 28 เหรียญ (23 เหรียญทอง, 3 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง) เป็นเจ้าของเหรียญทองมากที่สุดตลอดกาล (23 เหรียญ) ไม่พอ ยังเป็นเจ้าของเหรียญทองมากที่สุดในประเภทเดี่ยว (13 เหรียญ) และเหรียญรางวัลมากที่สุดในประเภทเดี่ยว (16 เหรียญ) อีกด้วย
เรียกว่า ไมเคิล เฟลป์ส คนเดียว สามารถคว้าเหรียญทองได้มากกว่าหลากสิบประเทศรวมกันในโอลิมปิกเสียอีก … เท่านั้นคุณคงพอจะเห็นภาพความโหดของการฝึกซ้อม ที่ส่งผลมาเป็นรางวัลในแบบที่ไม่รู้อีกกี่ปีจะมีมนุษย์โลกคนไหนทำซ้ำได้
เบื้องหลัง 28 เหรียญที่โลกอาจไม่รู้
หากจบไปตั้งแต่พารากราฟด้านบน เชื่อว่าหลายท่านคงจะเห็นว่าเรื่องราวของ เฟลป์ส มันอาจจะแฮปปี้เอนดิ้งเกินไป ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าเราทำไมถึงยังต้องอ่านต่อถึงตรงนี้ เพราะเบื้องหลังของการ “แชมป์แล้วแชมป์อีก” นั้นคืออีกโทนหนึ่งของเรื่องเลยทีเดียว … มันทั้งหม่นหมอง โหดร้าย และ เศร้าใจ จนหลายคนคาดไม่ถึง
ยอดมนุษย์, โคตรคน, และ ปีศาจในสระว่ายน้ำ ไม่ว่าคุณจะเรียก เฟลป์ส ว่าอะไร เมื่อถึงวันหนึ่งเขากลับรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันช่างไม่มีค่าอะไรเสียเลย ในวันที่เขาคว้าแชมป์ ต่อไป และต่อไปเรื่อย ๆ ในความดีใจ คือความกลัวว่าสักวันหนึ่ง หากเขาไม่ชนะเหมือนทุกครั้ง เขาจะเป็นอย่างไร ? ชื่อเสียงที่มีจะหายไปไหม ? และจะเหลือใครอยู่ข้างเขาบ้าง ?
ความโหดของ บ็อบ โบว์แมน ไม่ได้ส่งผลแต่แง่ดีอย่างเดียวเท่านั้น แม้มันจะทำให้ เฟลป์ส มีสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งมีทัศนคติของผู้ชนะเมื่อลงแข่งขัน แต่ความกดดันที่สั่งสมกันทุกวัน ก็ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน
ยิ่งเมื่อเขามีชื่อเสียง ทุกคนดูแลเขาอย่างดีเหมือนกับไข่ในหิน ทีมสมาคมว่ายน้ำดูแลเขาราวกับเป็นประธานาธิบดีของประเทศ กินดีที่สุด, นอนสบายที่สุด, ฝึกซ้อมกับอุปกรณ์และเทคโลยีที่มีคุณภาพที่สุด ซึ่งอะไรที่มันมากเกินไปย่อมส่งผลกระทบในแง่ลบเสมอ สำหรับ เฟลป์ส การได้รับการดูแลแบบโคตร VIP มันทำให้เขามองตัวเองและเปรียบเทียบกับนักกีฬาคนอื่น ๆ ซึ่งมันทำให้เขาตกผลึกว่า “เราเป็นแค่เครื่องจักรล่าแชมป์หรือเปล่า ?”
“มาถึงจุดหนึ่ง ผมเองไม่ได้คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่หรือวิเศษกวาใคร ผมไม่คิดว่าผมเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ ก็แค่นักว่ายน้ำคนหนึ่งเท่านั้น … ผมเคยคิดนะ ทำไมเราไม่จบความว่างเปล่านี้ซะ จบเรื่องนี้แล้วกลับมาใช้ชีวิตของเราเสียที” เขากล่าวในสารคดีเรื่อง The Weight of Gold (สิ่งที่ผู้คล้องเหรียญทองต้องแบกรับ)
สำหรับ เฟลป์ส ที่ชนะทุกอย่าง ไม่เหลืออะไรให้ท้าทาย เขารู้สึกว่ายิ่งประสบความสำเร็จกลับพบเจอแต่ความว่างเปล่า ใครล่ะที่อยู่ข้างเขาจริง ๆ ? ซึ่งในเวลาที่สภาพจิตใจตกต่ำ คำตอบของเขาคือ “ไม่มีเลย”
“ไม่เคยเห็นมีใครมาบอกว่าเราโอเคไหม ไม่มีใครกล้าจะต่อว่าตราบใดที่ผมยังผลิตความสำเร็จออกมาได้เสมอ … นอกจากเหรียญตราแล้ว ผมคิดว่าพวกเขาไม่ได้มองผมมีค่าเลย” สิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นคือ เฟลป์ส เล่าว่าเขาเคยคิดจะฆ่าตัวตายหลังจากความรู้สึกว่างเปล่านั้นด้วย
หลังการแข่งขัน โอลิมปิก ปี 2012 เฟลป์ส ตัดสินใจเข้ารักษาอาการทางจิตใจ ที่รู้สึกย่ำแย่ตลอดเวลา เขาไปที่โรงพยาบาลจิตเวชและเริ่มยอมรับความผิดปกติทางความคิดของตัวเอง
“วันแรกที่รักษาผมจำได้ ตัวผมสั่นเหมือนกับลูกนก ผมกลัว ผมกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างจะเกิดขึ้น จากนั้นหมอก็เข้ามาหาผมตอน 6 โมงเข้า เขาชี้ให้ผมมองกำแพงและถามผมว่า ‘บอกหมอซิ คุณเห็นอะไร ?'”
“ผมไม่มีความสุขเลย ผมรู้สึกไม่ดี และผมไม่ชอบตื่นเช้า … โน่น นี่ นั่น จากนั้นทุกอย่างพรั่งพรูออกมาเองทั้งหมด”
“แปลกไหมการพูดแบบนั้นไม่กี่ครั้ง ทำให้ผมรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองกลัวมาตลอด ความเปลี่ยนแปลงนั้นมาพร้อมกับประโยคที่ว่า ‘ชีวิตต้องง่าย’ … โป๊ะเช๊ะ ผมหายเลยหลังจากเข้ารับการรักษาช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นผมกลับมาถามตัวเองทุกว่า แล้วฉันจะเก็บมันไว้คนเดียวมาทำไมตั้ง 10 ปี ทำไมไม่ไปหาผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่วันนั้น”
มันตลกดีจากที่เขาพูด … แค่พบผู้เชี่ยวชาญ พบกับคนที่รู้วิธีแก้ปัญหา โซ่ที่คล้องคออันหนักอึ้ง กลายเป็นเหรียญทองที่เปล่งประกายง่าย ๆ แค่นั้นเลย … เฟลป์ส กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งอย่างน่าประหลาด เขาประกาศคัมแบ็กกลับมาสู่วงการอีกครั้ง ด้วยการลงแข่งขันในโอลิมปิกปี 2016 และแน่นอนเขายังคงคว้าเหรียญทองเหมือนเดิม เพียงแต่ตอนนี้เขาเป็น “นิว เฟลป์ส” ไปแล้ว
ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไมเคิล เฟลป์ส เปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากคนที่จะพูดต่อเมื่อจำเป็น กลายเป็นคนที่เปิดกว้าง รับฟังเรื่องราวของคนรอบข้าง สิ่งหนึ่งที่แม้แต่แฟน ๆ ก็สังเกตได้คือในโอลิมปิกปี 2016 เฟลป์ส ทำในสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อนนั่นคือการ “ร่วมกิจกรรมในพิธีเปิดการแข่งขัน”
เนื่องจากว่ายน้ำคือกีฬาแรกที่จะมีการชิงชัยเหรียญทองหลังจบพิธีเปิด ที่ผ่านมา เฟลป์ส จึงไม่สนใจที่จะเข้าร่วมพิธีเปิดเลย เพื่อโฟกัสกับตัวเอง ไม่เพียงเท่านั้น วัตรปฏิบัติของเจ้าตัวในการแข่งคือ ใส่หูฟังตั้งแต่ลงจากรถบัส ไม่สนใจคนอื่น ๆ แต่ในปี 2016 เขายิ้มแย้ม ผ่อนคลาย ทำให้บรรยากาศรอบตัวดีขึ้นเยอะ ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าตัวยังตอบรับหน้าที่การเป็นผู้ถือธงของทีมชาติสหรัฐอเมริกาในพิธีเปิดด้วย
จากนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือทุกคนสัมผัสได้ว่า เฟลป์ส เวอร์ชั่นใหม่ คือเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์แบบที่สุด หากเขามีสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งจริง ๆ ตั้งแต่วันแรกเหมือนกับตอนนี้ ดีไม่ดี 28 เหรียญสำหรับเขาอาจจะน้อยไปก็เป็นได้
“ก็เหมือนที่คุณเห็น ๆ กันนั่นแหละครับ ก่อนหน้านี้ผมใส่หูฟังเดินดุ่ย ๆ ไปขอบสระไม่คุยกับใครสักคน ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ผมเปิดใจ ผมคุยกับคนอื่นมากขึ้น เชื่อเถอะผมเป็นแบบนั้นจริง ๆ แม้นี่จะเป็นโอลิมปิกครั้งที่ 5 ให้ตายเถอะ ผมไม่เคยรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับการแข่งขันแบบนี้เลยสักครั้ง … นี่คือการแข่งขันที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมาตลอดชีวิต” เฟลป์ส กล่าวด้วยรอยยิ้ม
ไม่ว่าจะแข็งแกร่งแค่ไหน แต่มนุษย์เรานั้นไม่มีใครสามารถเพอร์เฟกต์ไปได้ทุกเรื่อง เรื่องราวเส้นทางของ ไมเคิล เฟลป์ส บอกอะไรกับเราหลายอย่าง สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการมองโลกอย่างเข้าใจ และใช้ชีวิตให้ง่ายที่สุด ง่วงก็นอน หิวก็กิน กระหายชัยชนะก็ฝึกซ้อม … ถามใจตัวเองให้ชัดว่าคุณต้องการอะไร ทำในสิ่งที่คุณอยากจะทำมันจริง ๆ
และสุดท้ายเมื่อเกิดปัญหา อย่าคิดว่าโลกนี้มีคุณที่แก้ปัญหานั้นได้แค่คนเดียว เพราะยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพต่าง ๆ มากมาย … เปิดใจยอมรับเสียว่าคุณเองก็ต้องพึ่งพาคนอื่น ๆ บ้าง อะไร ๆ จะได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องแบกโลกให้ปวดหลังและหนักสมองอีกต่อไป
หากคุณทำได้ คุณอาจจะได้พบตัวเองกับรอยยิ้มที่กว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมา เหมือนกับที่ ไมเคิล เฟลป์ส เป็น