FootNote:เงาสะท้อน อารมณ์ ทางสังคม สำแดงผ่าน การสำรวจของสื่อ
เหตุปัจจัยอะไรทำให้การทำ “โพล” ของ “สื่อ” ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง
ไม่ว่า “มติชน เดลินิวส์” ไม่ว่า “ไทยรัฐ” ไม่ว่า “เนชั่น”
สัมผัสได้จากการเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน
ขณะเดียวกัน ก็สัมผัสได้จากการรอคอยเมื่อ “ผล” ในการสำรวจประกาศออกมา ได้ก่อให้เกิด “อารมณ์” ในทางสังคมอย่างร้อนแรงและแหลมคมตามไปด้วย
โดยพื้นฐานก็คือ ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างสร้างสรรค์ต่อผลโพลจากหลายสำนักที่เคยทำมา ไม่ว่าจะเป็น “นิด้าโพล” ไม่ว่าจะเป็น “สวนดุสิตโพล” หรือแม้กระทั่ง “ซูเปอร์โพล”
นอกจากนั้น การเข้าไปมีส่วนร่วมกับการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยความสมัครใจยิ่งเป็นเครื่องค้ำประกันในเชิงปริมาณ อันเป็นรากฐานแห่งคุณภาพที่จะปรากฏ
เท่ากับเป็นบทพิสูจน์ถึงความสำคัญของ “การเลือกตั้ง” และการเข้าไปมีส่วนร่วมอันเป็นจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตย
เท่ากับฉายชี้ว่าบทบาทของ “สื่อ” ยังเป็นความหวังของสังคม
กระบวนการทำ “โพล” ของสื่อแตกต่างไปจากกระบวนการทำ “โพล” ของหลายสำนักอย่างแน่นอน นั่นก็สัมพันธ์กับองค์ประกอบ และพัฒนาการแห่งความเป็นสื่อ
นั่นก็คือ แต่ละสำนักสื่อมิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่มีเส้นสายเครือข่ายในขอบเขตทั่วประเทศ
นั่นก็คือ แต่ละเครือข่ายสัมพันธ์อยู่กับสังคมและประชาชน
นั่นก็คือ ในทศวรรษเป็นต้นมาการดำรงอยู่ของสื่อมิได้เป็นการดำรงอยู่ของ “สื่อหนังสือพิมพ์” หากแต่ยังเป็นช่องทาง “โทรทัศน์” และก้าวกระโดดไปยังสื่อ “ออนไลน์”
นั่นก็คือ กระบวนการทำ “โพล” ของสื่อดำรงอยู่บนพื้นฐานแห่งการมีส่วนร่วมของสังคมของประชาชน ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือกันอย่างมีลักษณะกัมมันต์ในทางการเมือง
จึงสะท้อน “อารมณ์” และ “ความต้องการ” ของสังคมได้ดี
ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ แต่ละสื่อ ซึ่งประกาศตนเข้ามาเล่นบทในการสำรวจความรู้สึก และความต้องการในทางสังคมมีฐานของมวลชนที่แน่นอนเป็นของตนเอง
ไม่ว่าเนชั่น ไม่ว่าไทยรัฐ ไม่ว่าเดลินิวส์ ไม่ว่ามติชน
จึงเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงวิจัย จึงเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงวิชาการ จึงเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงมวลชน อันแนบแน่นอยู่กับประเด็นและความเป็นจริงในทางการเมือง
สะท้อนและยืนยันถึงบทบาทใหม่ของ “สื่อ” อย่างเด่นชัด